การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจของรัฐ นอกจากการจะใช้กลไกของรัฐ เช่น การตรวจสอบในทางการเมือง การตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ และการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระแล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนก็มีความสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในฐานะที่เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้อำนาจของรัฐที่มีต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของประชาชนนั้น บทบาทสำคัญเป็นของสื่อมวลชนและประชาชนทุกคนที่ต้องมีความใส่ใจและรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
สื่อมวลชนมีความสำคัญมากในการสะท้อนปัญหาของสังคมออกมา ในเรื่องของการใช้อำนาจรัฐก็เช่นกัน
เมื่อสื่อมวลชนรู้ถึงการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สื่อมวลมีหน้าที่ต้องนำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ นอกจากนี้บทบาทของสื่อมวลชนจะต้องวางตัวเป็นกลางต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรืออิทธิพลของเผด็จการทหาร
นอกจากประชาชนจะต้องตื่นตัวต่อข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอแล้ว ในฐานะผู้อาจถูกกระทบสิทธิและเสรีภาพ ประชาชนจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานของกลไกภาครัฐในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือการที่ประชาชนรวมกลุ่มกัน
ในรูปกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ การสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องส่วนได้เสียของตน หรือการรวมตัวกันชุมนุมทางการเมือง
ซึ่งเป็นเสรีภาพของประชาชนอย่างหนึ่ง ก็เป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเช่นกัน
นอกจากวิธีการดังกล่าวข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทยยังรับรองสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิ
เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นก็ได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การปลดออกจากตำแหน่ง (Recall) ซึ่งเป็นการใช้สิทธิของประชาชนโดยตรงในการปลดนักการเมืองท้องถิ่นออกจากตำแหน่ง เมื่อเห็นว่า
นักการเมืองท้องถิ่นดังกล่าว ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งก็เป็นวิธีการหนึ่งในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
การจะสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
ในการตรวจสอบอำนาจรัฐนั้น ต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนเป็น “Active Citizen” หรือก็คือ การสนับสนุนให้ประชาชนมีสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกันของสังคม ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสังคม
ร่วมกัน
กล่าวเฉพาะในเรื่องของการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น
จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นบทบาทของสื่อมวลชนที่จะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับรู้ และอีกส่วนหนึ่งคือภาครัฐที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐด้วยเช่นกัน
การที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐนั้น รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้เป็นเรื่องทั่วไป
โดยรัฐต้องลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร นโยบายของรัฐในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจึงควรเน้นที่การเปิดเผยเป็นหลักสำคัญและการปกปิดเป็นข้อยกเว้น