องค์กรอิสระคืออะไร ?
องค์กรอิสระ เป็นองค์กรของรัฐทางการบริหารที่จำเป็นสำหรับรัฐที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารที่มีประสิทธิภาพกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งระบบราชการบริหารแบบเดิมไม่เอื้ออำนวย
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระ ก็เป็นประเภทหนึ่งของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ภาระหน้าที่สำคัญขององค์กรอิสระ คือ การวางระเบียบและการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่อาจจะมากระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระ
เรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรอิสระแตกต่างจากองค์กรผู้ใช้อำนาจของรัฐในฝ่ายบริหารองค์อื่นๆ คือ การที่องค์กรอิสระได้รับการประกันความเป็นอิสระขององค์กรเอาไว้ ทำให้แม้จะอยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดก็ตาม ก็ไม่อาจแทรกแซงภาระกิจ
ขององค์กรอิสระได้
ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระมีอยู่ด้วยกัน 4 ด้าน
ความเป็นอิสระด้านองค์กร กล่าวคือ องค์กรอิสระจะต้องถูกจัดตั้งโดยกฎหมายระดับ
พระราชบัญญัติขึ้นไป ซึ่งจะต้องผ่านความยินยอมจากฝ่ายรัฐสภาก่อน ในการจะยุบองค์กรอิสระดังกล่าวก็ต้องอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายในระดับเดียวกันหรือที่สูงกว่ามายุบเลิก
ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะมายุบเลิกโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายไม่ได้ ความเป็นอิสระในด้านผู้ดำรงตำแหน่ง กล่าวคือ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระแม้จะได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐสภาก็ตาม เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วก็พ้นไปจากอำนาจของผู้เสนอชื่อสรรหาให้มาดำรงตำแหน่ง ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาจะโยกย้ายถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งไม่ได้ นอกจากนี้ ผู้ดำรงตำแหน่งสามารถดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวแล้วจะกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมไม่ได้อีก เพื่อให้ปลอดจากการใช้อำนาจแทรกแซงของผู้แต่งตั้ง และการกำหนดสิ่งต่างๆ ที่ขัดกันกับตำแหน่งอื่นไม่ได้ ความเป็นอิสระด้านสถานะของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับองค์กรอิสระนั้นก็จะต้องได้รับความคุ้มครองที่พิเศษแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ความเป็นอิสระทางด้านงบประมาณ งบประมาณขององค์กรอิสระจะต้องเพียงพอแก่
การปฏิบัติงานขององค์กร
องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาด้วยกัน 5 องค์กร ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
- องค์กรอิสระที่มีอำนาจในตัวเอง ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรอิสระในลักษณะนี้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะทางเป็นของตัวเองในการควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐในแต่ละเรื่อง
- องค์กรอิสระที่ไม่มีอำนาจในตัวเอง ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระในกลุ่มหลังนี้ จะไม่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะเรื่อง แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้องค์กรกลุ่มแรก หน้าที่สำหรับองค์กรในกลุ่มหลังนั้นจะเป็นไปในลักษณะของการสอดส่องการกระทำของรัฐที่จะไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยตามรัฐธรรมนูญนั้น เรียกองค์กรอิสระเหล่านี้ว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
องค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร ได้แก่
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
แต่เดิมหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดหน้าที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและควบคุมการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย
คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ คือ
- ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
- ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยมีอำนาจหน้าที่ คือ
- ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อวุฒิสภา เกี่ยวกับการถอดถอนจากตำแหน่ง
- ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
- การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งและชั้น หรือระดับของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
- รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในทุกๆ ปี และนำรายงานออกเผยแพร่ เสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
- ดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อนุมัติหรืออนุญาตให้สิทธิประโยชน์ หรือออกเอกสารสิทธิแก่บุคคลใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ภารกิจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงเป็นเรื่องของการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐ ว่าในการใช้จ่ายเงินของรัฐเหมาะสมหรือไม่ และเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน
- กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงิน
- กำหนดลักษณะหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาในเรื่องทางวินัยทางงบประมาณและการคลัง
- ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และการเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
- กำหนดโทษปรับทางปกครอง
- พิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง
- เสนอนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินต่อรัฐสภาให้ทราบ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่พิจารณาและสอบสวน ข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนของประชาชน ในกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัติ นอกเหนือไปจากอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ และจัดทำรายงานประจำปีเสนอความเห็นต่อรัฐสภา จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
เป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ทำหน้าที่ส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน โดยทำหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสม
ต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
ในทุกๆ ปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะจัดทำรายงานประจำปีเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ได้รับรองสถานะการเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งแต่เดิมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนถูกจัดให้เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ