การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change)
การเปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มคน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม ได้แก่ ระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม สถานภาพและบทบาทของสมาชิกในสังคม บรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นอาจมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีหรือผลเสีย ก้าวหน้าหรือถอยหลัง เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรหรือชั่วคราว การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งใจให้เกิดหรือเกิดขึ้นเอง อาจจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษก็ได้
เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เงื่อนไขที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง มักจะเกิดจากปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดแค่ปัจจัยเดียว แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าปัจจัยหนึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าปัจจัยอื่น
- ปัจจัยทางนิเวศวิทยา
สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์หรือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อย่างสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ทำให้วิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป เช่น การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ส่งผลให้ทางตอนใต้ของเขื่อนเกิดปัญหาน้ำแห้งขอด วิถีชีวิตแบบประมงดั้งเดิมของชาวบ้าน ก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ชาวบ้านจึงต้องหันไปทำอาชีพใหม่ เป็นต้น
โดยปกติแล้ว สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง (ด้วยตัวเอง) แต่หากเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว จะเกิดผลกระทบมากต่อสิ่งแวดล้อมทางประชากร เช่น การโยกย้ายถิ่นฐาน การกระจายตัวของประชากร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ยกตัวอย่างเช่น การย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในเมืองหลวงของประชาชนในแถบชนบท ส่งผลให้ชนบทขาดแคลนแรงงาน หรือการเพิ่มจำนวนของประชากรที่ทำให้เมืองขยายตัวมากขึ้น - เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เทคโนโลยีและนวัตกรรม เกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของมนุษย์ ทำให้มีการประดิษฐ์ ค้นพบสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักรกล รถยนต์ หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตของคนไป - เศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของคนในสังคม เช่น การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หรือที่เรียกว่า ระบบกรรมสิทธิ์ กระบวนการผลิตอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิต และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมือง - การขัดแย้งและการแข่งขัน
เป็นกระบวนการทางสังคมที่เกิดจากการที่บุคคลต้องแข่งขันกันเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาสิ่งของให้ดีกว่าเดิม
การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งมักส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีการคิดค้นประดิษฐ์อาวุธ เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย เพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบในสงคราม
ผลพวงของเทคโนโลยีเหล่านั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันอย่างมาก เช่น
เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ตอนแรกเกิดจากการเป็นเครื่องคำนวนคณิตศาสตร์ กลายเป็นเครื่องถอดรหัสและวิวัฒนาการตัวเองเรื่อยมาจนทุกวันนี้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
สังคมย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อาจส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับใดระดับหนึ่ง อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทางตรง หรือการเปลี่ยนแปลงทางอ้อม อาจเกิดแค่สังคมเล็กๆ หรือลุกลามไปในสังคมใหญ่ก็ได้เช่นกัน ผลที่ได้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ผลดีเสมอไป แต่อาจเกิดผลเสียด้วย ยกตัวอย่าง เช่น
การอพยพย้ายถิ่นของประชากรวัยหนุ่มสาว จากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ผลดีที่เกิดขึ้น คือ มีแรงงานการผลิตมากขึ้นในภาคเมือง แต่ภาคชนบทสูญเสียแรงงาน ในขณะเดียวกันแรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้ ส่งรายได้กลับมาให้ครอบครัวในชนบท ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงในอาชีพเดิมที่เคยทำ ผลทางอ้อมอีกประการคือ อาจเกิดปัญหา
ช่องว่างระหว่างวัย ในกรณีหนุ่มสาวส่งลูกมาให้พ่อแม่ของตนเลี้ยงในชนบท เด็กที่เติบโตมากับปู่ย่าตายาย มักจะมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างไปจากเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ เนื่องจากความคิดทางการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน เป็นต้น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เช่น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนที่เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ทำให้คนสามารถรับรู้ข่าวสาร ส่งต่อข้อมูลต่างๆได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น หรือสามารถใช้บันทึกภาพ เล่นเกม ฯลฯ นอกเหนือจากการโทรเข้าออกเพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นมันอาจทำให้เกิดพฤติกรรมผูกติดกับการใช้สมาร์ทโฟน หรือที่เราเรียกกันว่า “สังคมก้มหน้า” จนลืมการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือเด็กประถมวัยที่ยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ อาจเกิดการเลียนแบบสื่อต่างๆ ที่เสพจากการเล่นผ่านสมาร์ทโฟน หรือการตกเป็นทาสของเทคโนโลยี เป็นต้น กรณีตัวอย่างทั้ง 2 กรณีที่ยกมานั้น สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดผลต่อกันเป็นลูกโซ่นั่นเอง ผลดีอาจเกิดกับที่หนึ่งแต่ผลเสียอาจเกิดกับอีกที่หนึ่งก็เป็นไปได้
ปัญหาสังคม
(Social Problem)
เป็นสภาวการณ์ทางสังคม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มากและคนส่วนใหญ่พิจารณาแล้วว่าเป็นสภาวะการณ์ที่สังคมไม่พึงปรารถนา ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหานั้น แต่การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการในรูปแบบของการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ตัวอย่างของปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาความยากจน และ ปัญหาการแพร่กระจายของโรคเอดส์ ฯลฯ
ลักษณะปัญหาสังคม
- เป็นสภาวการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา
- บุคคลในสังคมย่อมมองปัญหาสังคมแตกต่างกันออกไปตามระดับชนชั้น วิธีคิด ค่านิยม และการตีความในแบบแผนพฤติกรรมที่ต่างกันออกไป และเมื่อปัญหาต่างกัน วิธีคิดต่อการแก้ปัญหาก็จะต่างกันไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าวิธีไหนเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด
- ปัญหาสังคมไม่หยุดนิ่ง และจะผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางครั้งในอดีตอาจเป็นปัญหา
แต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นปัญหาแล้ว - ปัญหาสังคมอาจเกิดขึ้นโดยจากพฤติกรรมที่ไม่คาดคิด หรือเกิดจากกิจกรรมที่วางแผนมาแล้วก็เป็นไปได้
สาเหตุของปัญหาสังคม
- การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
เช่น การเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง การเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม การเปลี่ยนค่านิยมใหม่ๆ ที่ทำให้สังคมเกิดปัญหาขึ้น - ความไม่เป็นระเบียบของสังคม
ที่ไม่สามารถจะควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติตามสถานภาพและบทบาทที่สังคมกำหนดไว้ได้ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างกฏเกณฑ์กับความมุ่งหมาย หรือสมาชิกบางกลุ่มที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม ทำให้เกิดการขาดระเบียบและเป็นปัญหาสังคมขึ้น - ความผิดพลาดจากการให้การอบรม
และการเรียนรู้ระเบียบ แบบแผนพฤติกรรมของสังคม จากสถาบันที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ เกิดความล้มเหลวของกระบวนการขัดเกลาทางสังคม - พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม
เป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับและไม่อาจทำได้ สังคมเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของสังคม และมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม
ปัญหาสังคม เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างที่กล่าวไปว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาจก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียต่อสังคมก็ได้ทั้ง 2 ทาง ปัญหาสังคม คือ ผลพวงที่เกิดจากผลเสียของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั่นเอง