สิทธิมนุษยชน (Human Rights) คือสิทธิพื้นฐานอันละเมิดมิได้ที่มีมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ หมายความว่า ด้วยความเป็นมนุษย์เพียงอย่างเดียวก็สามารถเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างถึงสถานะทางสังคมหรือคุณสมบัติอื่นใด
พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 นอกจากจะจัดตั้งคณะกรรมการในระดับชาติ
เพื่อรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังให้ความหมายของสิทธิมนุษยชนไว้ว่า
จะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชน มิได้เป็นเพียงสิทธิตามกฎหมายของรัฐไทยเท่านั้น ยังหมายรวมถึง สิทธิที่ถูกรับรองในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐไทย
ซึ่งรัฐบาลไทยอาจมีพันธกรณีที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของไทยให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสิทธินั้นๆ ในทางสากลด้วย โดยเนื้อหาของสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ร่วมกันในสังคมแทบทุกมิติ
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายถึง คุณค่าของความเป็นมนุษย์ซึ่งทุกคนมีโดยเท่าเทียมกัน ทุกคนจึงต้องได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นมนุษย์ ต้องไม่ถูกดูถูกเหยียดหยาม หรือถูกปฏิบัติอย่างสัตว์หรือสิ่งของ หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมที่จะกระทำการใดโดยอิสระ อาจใช้ทั้งในความหมายของอำนาจอันชอบธรรมตามธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และทั้งที่ถูกรับรองโดยกฎหมาย
เสรีภาพ หมายถึง ความเป็นอิสระของบุคคลที่จะกระทำการใดๆ โดยไม่ถูกควบคุมหรือแทรกแซง
ความเสมอภาค หมายถึง สถานะความเท่าเทียมระหว่างบุคคลที่จะได้รับการเคารพสิทธิและได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากแนวคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ที่มองว่า
มีกฎเกณฑ์บางประการที่มีอยู่ในธรรมชาติ เกิดขึ้นเองโดยที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น มีอยู่มาก่อนและอยู่เหนือกฎหมายของรัฐ ประกอบกับแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights) ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือล่วงละเมิดโดยกฎหมายของรัฐได้
การที่แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกยอมรับให้เป็นสิทธิทางกฎหมายทั้งในระดับกฎหมายของรัฐและกฎหมายระหว่างประเทศได้นั้น เป็นผลพวงของประวัติศาสตร์การต่อสู้ ทั้งในเชิงความคิดและในทางการเมืองเป็นระยะเวลานานในหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก
สังคมมนุษย์ในอดีตนั้น มิได้มองว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและเสรีภาพเท่าเทียมกันเช่นสังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์การค้าทาสตั้งแต่สมัยโรมันจนถึงยุคล่าอาณานิคม ระบบสังคมแบบแบ่งชนชั้นวรรณะในยุคศักดินาทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออกที่จำกัดสิทธิในการเดินทางหรือเลือกใช้ชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครอง แม้ประเทศในยุโรปยุคที่ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วก็ยังมีระบบ
การปกครองที่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีทรัพย์สินหรือสถานะทางสังคมเท่านั้นจึงจะสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทาง
การเมืองได้
แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนขบวนการการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้อยู่ใต้ปกครองและผู้ถูกกดขี่ “มหากฎบัตร (Magna Carta)” ซึ่งถูกลงนามในปี 1215 ที่ประเทศอังกฤษ ถูกนับว่าเป็น
เอกสารแรกๆ ที่ยอมรับสิทธิของประชาชนผู้ถูกปกครอง
ก่อนจะพัฒนามาเป็นเอกสารที่เรียกว่า “บัญญัติสิทธิ (Bill of Rights)” ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ แนวคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติถูกพัฒนาจนยอมรับสิทธิตามธรรมชาติให้เป็นสิทธิทางกฎหมายอย่างชัดเจนที่สุดในศตวรรษที่ 18 นี้เอง
เอกสารที่เป็นสัญลักษณ์ของพัฒนาการในยุคนี้คือ “คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศส
(The Declaration of the Rights of Man and Citizen)" ในปี 1789 ช่วงก่อนการปฎิวัติฝรั่งเศส และ “บัญญัติสิทธิของสหรัฐอเมริกา (United States Bill of Rights)” ในปี 1791 หลังการประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศ ทั้งสองสิ่งนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกหลายประเทศทั่วโลกและเอกสารในทางกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับในศตวรรษถัดมา รวมถึง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rigths)” ในปี 1948 หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประกาศยอมรับสิทธิโดยมีนัยยะอันเป็นสากล
เช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการแนวคิดสิทธิมนุษยชนก็คือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์พัฒนาการของสังคมมนุษย์นั่นเอง
แม้สิทธิมนุษยชนจะได้รับการยอมรับและบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุดของแทบทุกประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังมีกฎหมายพิเศษอีกมากมายที่บัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้น สิทธิต่างๆ ก็ยังถูกแก้ไขหรือบิดเบือนโดยกฎหมายของรัฐ ถูกละเลยโดยนโยบายของผู้บริหารประเทศ หรือถูกละเมิดโดยกลไกทางสังคมแบบไม่เป็นทางการ นำมาถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เราเห็นตัวอย่างมากมาย เช่น การเลือกปฏิบัติทางเพศ
การค้ามนุษย์ การปราบปรามการชุมชนโดยใช้ความรุนแรง การทรมานผู้ต้องหา
ดังนั้น จึงต้องมีกลไกที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทั้งในระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนบางครั้งอาจถูกต้องตามกฎหมายของรัฐนั้นๆ แต่อาจขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
ในกรณีเช่นนี้ รัฐนั้นๆ มีหน้าที่ต้องแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องตามหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไปให้ความยินยอมผูกพันเอาไว้ การยอมรับสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิทางกฎหมายเช่นนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาประชาคม (social contract) ระหว่างรัฐและประชาชน ในความหมายที่ว่า รัฐหรือผู้ปกครองจะเคารพ (respect) กล่าวคือ ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน จะคุ้มครอง (protect) ประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิโดยผู้อื่น และจะดำเนินมาตรการเพื่อเติมเต็ม (fulfill) สิทธิให้แก่ประชาชน
หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนอันได้รับการยอมรับมีอยู่หลายประการ