เนื่องจากสิทธิมนุษยชนมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราในทุกมิติ ปัญหาสังคมต่างๆ จึงมักมีมิติที่เป็นปัญหา
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปด้วย
ตัวอย่างเช่น ปัญหาคุณแม่วัยใสหรือการท้องในวัยรุ่น ก็มิใช่เป็นปัญหาเรื่องการขาดความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดของเยาวชนเพียงอย่างเดียว แต่มีประเด็นเรื่องสิทธิในการศึกษาต่อของแม่วัยรุ่น รวมไปถึงประเด็นถกเถียงว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในการทำแท้งหรือไม่ด้วย
หรือในกรณีของปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แต่มีประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิที่จะเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยในการดำเนินชีวิต สิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองว่าควรให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่อุตสาหกรรมไปจนถึงสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาในกระบวนการยุติธรรมด้วย
ในบริบทโลก สิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกยอมรับอย่างราบรื่นไปเสียทุกแห่ง หลายครั้งที่แนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ขัดแย้งกับแนวคิดดั้งเดิมของสังคมนั้นๆ
ตัวอย่างคือ บางสังคมมองว่าผู้หญิงมีคุณค่าน้อยกว่าผู้ชาย มีสถานะเป็นสมบัติของพ่อและสามี แนวคิดแบบนี้ขัดแย้งกับเรื่องสิทธิความเสมอภาคของหญิงชายอย่างรุนแรง นำมาซึ่งปัญหาสิทธิมนุษยชนมากมาย เช่น หลายครอบครัวในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง บังคับให้เด็กผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การบังคับขริบอวัยวะเพศ (Female Genital Mutilation - FGM) ในแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีปัญหาของประเทศที่ถืออิสลามหรือคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ที่มองว่ากลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน (LGBT) เป็นคนบาปต้องถูกลงโทษ นำมาสู่ปัญหาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น รัสเซีย มาเลเซีย อิหร่าน เป็นต้น
ในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งของแนวคิดดั้งเดิมของสังคมกับสิทธิมนุษยชนนั้นไม่เด่นชัด อาจเพราะสังคมมีความเปิดกว้างพอสมควร รวมถึงค่านิยมพื้นฐานในสังคมได้รับการขัดเกลาและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีความเห็นอกเห็นใจกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือเปราะบางทางสังคม จึงมีการสนับสนุนส่งเสริมสิทธิของกลุ่มบุคคล เช่น คนพิการ กลุ่มผู้รักเพศเดียวกัน หรือชนกลุ่มน้อยค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีปัญหาสิทธิมนุษยชน
หลากหลายแล้ว เช่น พม่ามีปัญหาเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา กัมพูชาและลาวมีปัญหาการละเมิดกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน สิงคโปร์มีปัญหาเรื่องการเซนเซอร์ความคิดเห็นที่ขัดต่อรัฐบาล ฟิลิปปินส์มีปัญหา
เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยอย่างเป็นธรรม เป็นต้น
ปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคเอเชียโดยรวมนั้น ยังตามหลังภูมิภาคอื่นๆ ในโลก เนื่องจากยังไม่มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนของภูมิภาค เช่นเดียวกับในยุโรป อเมริกา และแอฟริกาที่มีเพียง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน (ASEAN Intergovernemental Commission on Human Rights - AICHR) เท่านั้นที่พอมีบทบาทอยู่บ้าง
โดยทั่วไป หากพูดถึงปัญหาของสิทธิมนุษยชนดั้งเดิมแล้ว เรามักจะนึกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เนื่องจากแนวคิดของสิทธิมนุษยชนเอง คือการเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้ผูกขาดอำนาจเชิงกายภาพในประเทศหนึ่งๆ ปฏิบัติต่อประชาชนของตนอย่างมีมนุษยธรรม การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมักเป็นประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้รัฐละเมิดสิทธิ หรือการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิก็ตาม
ในความเป็นจริง รัฐไม่ใช่ตัวแสดงเดียวที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มทุนหรือบริษัทที่มีอำนาจเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ก็สามารถกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับเดียวกันหรือมากกว่ารัฐ รวมไปถึงปัจเจกบุคคลก็ละเมิดหรือสิทธิของเอกชนด้วยกันเองเช่นกัน หากเราแยกประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนตามกลุ่มผู้ละเมิดสิทธิ อาจแบ่งได้ดังต่อไปนี้
มักพบเจอมากในสื่อภาพยนตร์และสื่อออนไลน์ (ในส่วนของสื่อโทรทัศน์นั้นมักเป็นการเซนเซอร์ตัวเอง)
โดยเหตุผลของการเซนเซอร์นั้นมักเป็นประเด็นเชิงศาสนา ภาพลามกอนาจาร ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม ซึ่งถูกตั้งคำถามว่ามาตรการเซนเซอร์นั้นกระทำอย่างเหมาะสมได้สัดส่วนกับผลประโยชน์ที่รัฐต้องการปกป้อง และมีมาตรฐานเดียวกันกับทุกๆ สื่อหรือไม่ อีกทั้งรัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะลงทะเบียนสื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสอดส่องการทำงานของสื่ออย่างเข้มงวดมากขึ้น
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยที่เราพบเห็นได้ในทุกๆ สังคม
หากแต่ในประเทศไทยมีตัวอย่างของหลายรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามหรือสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บไปจนถึงเสียชีวิต ผู้เสียหายหลายรายยังไม่ได้รับการเยียวยาจากกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงในปัจจุบันการชุมนุมทางการเมืองก็ถูกห้ามมิให้กระทำมาเป็นระยะเวลายาวนาน การรวมตัวกันเพื่ออภิปรายประเด็นทางสังคมก็ถูกจับตามองโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างใกล้ชิด ทำให้องค์การระหว่างประเทศตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม
ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีบุคคลหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ บ้างก็อาศัยอยู่เป็นเวลานานแต่ไม่เคยถูกรวมเข้าในระบบสำมะโนประชากร บ้างก็เป็นบุตรหลานของแรงงานผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่มาเกิดในประเทศไทย การไม่มีสัญชาติทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล
และสวัสดิการอื่นๆ กลายเป็นเกิดปัญหาสิทธิต่างๆ ตามมา
ประเทศไทยมีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาล หากแต่การบริหารจัดการต่างๆ ในระบบสาธารณสุขก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่มีประสิทธิภาพและทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนักเกินไป จนกระทั่งมีผู้เสนอว่ายกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง อาจทำให้การคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพของประชาชนถูกลดระดับลง
มีรายงานข่าวอยู่บ่อยครั้งว่าบริษัทในประเทศไทยใช้แรงงานทาสหรือแรงงานที่มาจากกระบวนการค้ามนุษย์
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีสภาพการทำงานที่โหดร้าย อีกทั้งสิทธิแรงงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างพอเหมาะ บ้างมีสภาพการทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้รับวันหยุดที่เพียงพอ ไม่ได้รับการดูแล เมื่อเกิดการเจ็บป่วย
หลายครั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจนำมาสู่ความขัดแย้งกับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ประกอบกับการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้สิทธิในที่ดินทำกินถูกมองข้าม ไปจนถึงทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเสียหายจนประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ จนเกิดเป็นการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางปกครอง
การเรียกร้องสิทธิของประชาชนในบริบทเช่นนี้หลายครั้งนำไปสู่การข่มขู่เอาชีวิต การอุ้มฆ่า และการทำให้สาบสูญ
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ หลายบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจการเงินและประกันภัยพยายามเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอมและขายข้อมูลเหล่านั้นเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทำให้ประชาชนถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว และไม่สามารถควบคุมการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองได้
มีความเชื่อมโยงกับปัญหาแรงงานด้วย การค้ามนุษย์มักทำเป็นกระบวนการและเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยในภูมิภาค เช่น ชาวโรฮีนจาในอุตสาหกรรมประมง และยังมีความเกี่ยวข้องกับการบังคับให้ผู้หญิงขายประเวณีด้วย
มีรายงานการล่วงละเมิดต่อเด็กและสตรีภายในครอบครัวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสังคมไทยยังมองว่าปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาส่วนตัว คนนอกไม่ควรเข้าไปยุ่ง ทำให้หลายครั้งกว่าเหยื่อจะได้รับความเป็นธรรมก็สายไปเสียแล้ว
การใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคม (social media) มากขึ้นทำให้การกลั่นแกล้งกันทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทรงพลังมากกว่าการกลั่นแกล้งทางกายภาพเพราะภาพหรือข้อความบนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่สามารถถูกลบอย่างถาวรได้ง่ายๆ และเข้าถึงได้ตลอดทุกที่ทุกเวลา จนทำให้หลายรายต้องพบกับปัญหาทางจิตและการปรับตัวเข้ากับสังคมผู้กลั่นแกล้งและผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งไม่ใช่เฉพาะเพียงวัยรุ่นเท่านั้น ในหมู่ผู้ใหญ่ก็ยังพบเจอการกลั่นแกล้งซึ่งยกระดับไปถึงขั้นทำให้เกิดความเสียหายในโลกกายภาพด้วยเช่นกัน
ผู้ที่มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบปัญหาสิทธิมนุษยชนคือรัฐ เนื่องจากรัฐต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ดังนั้น รัฐต้องปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้คุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมถึงมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิให้สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังต้องการความร่วมมือร่วมใจจากส่วนอื่นๆ ของสังคมด้วย
องค์กรที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาและพัฒนาสิทธิมนุษยชนมีหลากหลาย ตั้งแต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไปจนถึงองค์กรภาครัฐ เช่น กรมคุ้มครองสิทธิของกระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งผู้เสียหายผู้ต้องหา และผู้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลสิทธิเด็ก สตรี คนพิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กระทรวงแรงงาน รับผิดชอบการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น
และยังมีกลุ่มบุคคลทั่วไปที่รวมตัวกันเป็นมูลนิธิหรือ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit Organisation - NPO) หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-Governmental Organization - NGO) เพื่อทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ เรียกรวมกันว่า กลุ่มประชาสังคม (civil society) มีบทบาทมากในการส่งเสริมประเด็นเฉพาะต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและสื่อมวลชน เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (ThaiNetizen) ศูนย์ข้อมูลชุมชน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่เป็นเครือข่ายระดับนานาชาติ เช่น Amnesty International Forum-Asia และ Human Rights Watch ที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลายเรื่อง รวมไปถึงองค์กรที่ดูแลเฉพาะเรื่อง เช่น Green Peace ที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิสิ่งแวดล้อม Aritcle19 ที่จับประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงออก Reporters Without Borders (RSF) ที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิของสื่อมวลชน Privacy International ที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิความเป็นส่วนตัว
ในฐานะปัจเจกบุคคล เราอาจมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสิทธิมนุษยชนได้โดยทำความเข้าใจแนวคิดการเคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งก็หมายถึงการเคารพในรสนิยม ความเชื่อ ทางเลือก ความคิดที่แตกต่างกันด้วย อีกทั้งควรมีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยอาจเริ่มจากวิธีที่ใกล้ตัว เช่น ไม่ซื้อสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็กหรือโดยทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น