กฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและยังเป็นแม่บทของกฎหมายต่างๆ กล่าวคือ กฎหมายอื่นๆ จะออกบังคับใช้ได้ต้องอาศัยอํานาจของรัฐธรรมนูญ นั่นก็หมายความว่ากฎหมายที่ออกมา ห้ามขัดกับรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 20 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560
โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญของไทยมีสาระสําคัญที่ควรรู้ ดังต่อไปนี้
- รูปแบบของรัฐไทย เป็นรัฐเดี่ยว ไม่สามารถแบ่งแยกได้ และปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- อํานาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและใช้อํานาจผ่าน 3 สถาบัน คือ อํานาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา อํานาจบริหารผ่านทางนายกรัฐมนตรี และอํานาจตุลาการผ่านทางศาล
- มีการรับรองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของปวงชนชาวไทยไว้ ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่พึงและเป็นการทําตามพันธกรณีที่ไทยได้ไปให้สัตยาบันไว้
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีข้อสังเกตที่น่าสนใจและพึงรู้ไว้ดังต่อไปนี้
รัฐธรรมนูญนี้ได้คงอํานาจอันกว้างขวางของ ม.44 ไว้ต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตาม ม.265 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวทําให้ ม.44 จะคงอยู่ไปจนกว่าจะมี
การเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งรวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่ คสช. ได้ออกมาด้วยก็ยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมายกเลิก
นายกคนนอกก็อาจเกิดมาจากรัฐธรรมนูญนี้ เพราะมีบทบัญญัติให้อํานาจไว้ โดยทั่วไป เรารับรู้กันดีว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกต้องมาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองล่วงหน้า และถ้าพรรคได้รับเลือกแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้ที่จะมาเป็นนายกได้ เว้นแต่
a. ส.ส. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา
b. รัฐสภา โดย ส.ส. และ ส.ว. ลงมติด้วยคะแนน 2 ใน 3 หรือ 500 คน จาก 750 คน ให้มีนายกคนนอก นอกเหนือจากรายชื่อที่เสนอไว้ได้
c. ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คน เสนอบุคคลใดก็ได้แล้วให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน
เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นการเปิดประตูไปสู่การแต่งตั้งนายกคนนอกนั่นเอง
- สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในช่วงแรกจะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวาระเริ่มแรก (ส.ว. ชุดแรก) มีทั้งหมด 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คสช. เกือบทั้งหมด และมี ส.ว. โดยตําแหน่งที่เป็นผู้บัญชาการ เหล่าทัพต่างๆ 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ โดย ส.ว. ชุดนี้จะมีวาระดํารงตําแหน่งยาวนานกว่า ส.ว. ชุดอื่น คือ มีวาระ 5 ปี นอกจากนี้ยังมีอํานาจร่วมโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอํานาจกํากับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทําตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ คสช. จะจัดตั้งขึ้น
- บัตรเลือกตั้งจะเหลือแค่ใบเดียว เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบปันส่วนผสม โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพยายามชี้ชวนว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้
จะทําให้ทุกเสียงมีความหมาย คะแนนจากการเลือกตั้ง ส.ส. เขต จะไม่สูญเปล่า แต่จะถูกนํามาคํานวณเป็นที่นั่งของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (Party-List) แทน นั่นหมายความว่า การกาครั้งเดียวเท่ากับเลือกทั้งคนทั้งพรรค ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะคะแนนเสียงอาจถูกบิดเบือนไปเลือกคนหรือพรรคที่ไม่ชอบโดยปริยาย และอาจนําไปสู่การซื้อเสียงที่ง่ายมากขึ้น - องค์กรอิสระมีอํานาจกํากับดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเพิ่มอํานาจให้กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อควบคุมสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีการกําหนดให้องค์กรอิสระสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติ อาทิไม่มี ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรม ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญเขียนขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีกลไกควบคุมอื่นๆ อีก เช่น ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาลให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งรัฐบาล คสช. และ สนช. จะเขียนขึ้น - รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก จนอาจจะแก้ไม่ได้ เพราะเงื่อนไขใหม่คือ ต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระที่สาม นอกจากนี้ ต้องมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้านทุกพรรคอีกด้วย และบางหมวดถ้าจะแก้ไขก็ต้องผ่านการออกเสียงประชามติก่อนด้วย
- กฎหมายใหม่จะออกมาเพียบ เพราะให้อํานาจ สนช. และ คสช. ออกกฎหมายใหม่ ๆ เยอะมาก เช่น
ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศภายใน 120 วัน และจัดทํายุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายในหนึ่งปี นับจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ นั่นหมายความว่า ครม. ชุดปัจจุบัน (รัฐบาล คสช.) จะเป็นผู้เขียนขึ้นเอง
มาตรฐานจริยธรรม โดยกําหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระเป็นผู้เขียนมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นและบังคับใช้ ภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมต้องพ้นจากตําแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี
กฎหมายลูก 10 ฉบับ กําหนดให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อจัดทําพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ โดยมีกฎหมายสําคัญ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่มา ส.ว. และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ
กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปและคณะกรรมการปฏิรูปสองชุด กําหนดให้รัฐบาลปัจจุบัน (คสช.) จัดทํากฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปภายใน 120 วัน และให้เริ่มดําเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ โดยต้องคาดหวังว่าจะเห็นผลในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ ให้มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งด้วย โดยมีทั้งคนที่เคยเป็นตํารวจและไม่เคยเป็นตํารวจมาทํางานด้วยกัน ซึ่งต้องทํางานให้เสร็จ
ภายใน 1 ปี
ส่วนการปฏิรูปการศึกษา ก็ให้มีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต้องแต่งตั้งภายใน 60 วัน คณะกรรมการทั้งสองชุดมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลปัจจุบัน
กฎหมายปฏิรูปสามฉบับ มาตรา 278 กล่าวถึงกฎหมายอีกสามฉบับที่ต้องเร่งรัดให้ออกให้ได้โดยเร็ว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ คือ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา กฎหมายประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และกฎหมายการรับฟังความคิดเห็นขอประชาชนก่อนดําเนินใดๆ รวมถึงการขจัดการทุจริตด้วย อีกทั้งยังกํากับอีกด้วยว่าต้องดําเนินการร่างทั้งสามฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และให้ สนช. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระทั้ง 5 ดังต่อไปนี้
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.)
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ค.ต.ง.)
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ คือ องค์กรอัยการ
กฎหมายภาษี
ภาษี คือ เงินที่รัฐจัดเก็บจากบุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อนําไปใช้ในการพัฒนาประเทศและจัดบริการสาธารณะต่างๆ โดยรัฐอาจจัดเก็บภาษีได้ทั้งรูปแบบทางตรงและทางอ้อม โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการเสียภาษี ก็คือบุคคลที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดให้เสียภาษี โดยทั่วไป การจัดเก็บภาษีจะต้องทําการยื่นแบบเพื่อชําระภาษีในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี ทั้งนี้รัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ในรูปแบบอื่นก็ได้เช่นกัน
ภาษีอากร
ภาษีอากรแบ่งได้ 8 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีชนิดนี้ เป็นภาษีที่รัฐสามารถจัดการจัดเก็บได้ง่ายและจัดเก็บได้มากที่สุด เป็นการจัดเก็บภาษีทางตรง โดยรัฐจะดูจากเกณฑ์ของรายได้ ว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของบุคคลนั้นเข้าเกณฑ์ขั้นตํ่าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งปัจจุบัน รายได้ขั้นตํ่าที่ต้องเสียภาษี คือ 150,000 บาท ต่อปี หมายความว่า หากน้อยกว่านี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง ซึ่งภาษีชนิดนี้เป็นหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเหลื่อมลํ้าให้กับสังคม เพราะรัฐจัดเก็บแบบใครมีรายได้มากก็จ่ายมากนั่นเอง
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีประเภทนี้ รัฐจะเก็บจากห้างร้านต่างๆ เป็นการเก็บภาษีทางตรงเช่นกัน โดยจัดเก็บเหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่เพียงมีอัตราในการจัดเก็บสูงกว่าเท่านั้น
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีชนิดนี้ เป็นภาษีที่เราจ่ายออกไปเองโดยไม่รู้ตัวจากการใช้จ่ายในชีวิตประจําวันของเรา ก็คือ VAT 7 เปอร์เซ็นนั่นเอง ซึ่งเป็นภาษีที่อาจมองว่า ทําให้เกิดความเหลื่อมลํ้า เพราะไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องจ่ายเท่ากันหมด
- ภาษีบํารุงท้องที่ เป็นการจัดเก็บทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยเก็บจากการถือครองอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง โดยผู้ที่จัดเก็บก็คือท้องถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่นั่นเอง
- ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็นการจัดเก็บภาษีจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยผู้ที่เสียภาษี คือ เจ้าของสิ่งปลุกสร้างนั้น โดยต้องจ่ายให้กับท้องถิ่นที่สิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่
- ภาษีสรรพสามิต เป็นการเรียกเก็บภาษีจากสินค้าที่ผลิต นําเข้า หรือการให้บริการทางธุรกิจ เช่น สุรา บุหรี่ เป็นต้น
- ภาษีศุลกากร เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่นําเข้าสินค้าเข้ามาขายในประเทศ หรือ ผู้ที่ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
- ภาษีอากรแสตมป์ เป็นภาษีที่รัฐจัดเก็บโดยการขายอากรให้ประชาชน นําไปติดกับเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับรองว่ารัฐได้ทราบถึงเอกสารนั้นแล้ว และเอกสารมีรัฐรับรองทางกฎหมายได้ เช่น สัญญา หนังสือมอบอํานาจ หรือคําฟ้อง เป็นต้น
กฎหมายรับราชการทหาร
การรับราชการทหารเป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคน เมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดก็ต้องไปรับใช้ชาติ
ตามพระราชบัญญัติทหารกองเกิน พ.ศ. 2497 โดยมีหลักเกณฑ์ที่สําคัญดังนี้
- ต้องไปลงทะเบียนทหารกองเกินเมื่อมีอายุครบ 18 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อสัสดีอําเภอที่ตนมีภูมิลําเนาอยู่ มิฉะนั้นมีโทษตามกฎหมาย
- เมื่อมีอายุ 21 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกและเข้ารับการคัดเลือก ที่อําเภอที่ตนมีภูมิลําเนาอยู่ เรารู้จักกันในขั้นตอนที่ว่าเกณฑ์ทหารหรือจับใบดําใบแดงนั่นเอง (ถ้าไม่อยากลุ้นจนหัวใจวาย บางคนก็สมัครใจเป็นทหารไปเลยก็มี) หากไม่ไปรับการคัดเลือก ก็จะมีโทษตามที่กฎหมายกําหนด นั่นคือจําคุกไม่เกิน 3 ปี
- ผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหาร คือ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ นักบวชนิกายจีนหรือญวณที่มีสมณศักดิ์ คนพิการทุพพลภาพ หรือคุณสมบัติอื่นที่กฎหมายกําหนดยกเว้นให้ไม่ต้องเข้ารับการคัดเลือก
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค
กฎหมายคุ้มครองผุ้บริโภคเป็นกฎหมายที่สําคัญ เพราะเป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองคนทุกคนที่มีสถานะเป็นผู้บริโภค ให้ได้รับความเป็นธรรมและความปลอดภัยในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2)
โดยมีสาระสําคัญ ดังต่อไปนี้
- ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารและคําอธิบายสินค้าอย่างถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในการซื้อสินค้า
หรือรับการบริการ - ผู้บริโภคมีอิสระในการซื้อสินค้าและรับการบริการด้วยตนเอง
- ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือรับบริการต่าง ๆ
- ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าหรือรับบริการต่าง ๆ คือต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ผลิตนั่นเอง
- ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหาย หากได้รับความเสียหายจากการใช้หรือรับบริการต่างๆ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริโภค โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงหน้าที่ของผู้บริโภคที่ควรปฏิบัติ คือ
- ผู้บริโภคต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เช่น ตรวจสอบฉลากแสดงราคาและปริมาณ ไม่หลงเชื่อในคําโฆษณาคุณภาพสินค้า
- การเข้าทําสัญญาผูกมัดตามกฎหมาย โดยการลงลายมือชี่อ ต้องตรวจสอบความชัดเจนของภาษาที่ใช้ตามสัญญาให้เข้าใจรัดกุม หรือควรปรึกษาผู้รู้ทางกฎหมายหากไม่เข้าใจ
- ข้อตกลงต่าง ๆ ที่ต้องการให้มีผลบังคับใช้ ควรทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ประกอบธุรกิจด้วย
- ผู้บริโภคมีหน้าที่เก็บหลักฐานไว้ เพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องค่าเสียหาย
- เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรดําเนินการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอยู่หลากหลายและกระจายตามประเภทของการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น
- กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับอาหาร ยา หรือเครื่องสําอาง เป็นหน้าที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณาสุขที่ต้องเข้ามาดูแล
- กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็เป็นหน้าที่ของสํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องเข้ามาดูแล
- กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจจัดสรรที่ดิน อาคารชุด เป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแล
- กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับคุณภาพหรือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายในกระทรวงพานิชย์ ที่ต้องเข้ามาดูแล
- กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของกรมการประกันภัย กระทรวงพานิชย์ที่ต้องเข้ามาดูแล