การจะตอบคำถามข้อนี้ได้ เราอาจต้องย้อนกลับไปที่ความจำเป็นของการเกิดขึ้นของรัฐก่อน การที่รัฐเกิดขึ้นมาก็เพื่อสนองความต้องการของคนในสังคม ทั้งเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการจัดหาสิ่งที่เป็นบริการสาธารณะมาให้บริการแก่ประชาชนของรัฐ
การที่รัฐมีหน้าที่เพื่อสนองความต้องการข้างต้นนั้น ในบางครั้งรัฐอาจไปกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยจำเป็นต้องบังคับให้ประชาชนกระทำการหรือละเว้นการกระทำบางอย่าง
ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การจะใช้อำนาจรัฐมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะทำได้ ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นที่มาของอำนาจและกรอบจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ ไม่ให้ใช้อำนาจนอกกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ ผลที่ตามมาก็คือ จะต้องมีการควบคุมการกระทำของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐสามารถทำโดยองค์กร 3 ทางด้วยกัน คือ การตรวจสอบอำนาจรัฐในทางการเมือง การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรตุลาการ และการตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระ
การตรวจสอบในทางการเมืองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา ในฐานะผู้แทนของประชาชน และฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในชีวิตและการจัดหาสิ่งที่เป็นบริการสาธารณะ
มาให้บริการแก่ประชาชน ดังนั้น ฝ่ายบริหารอาจถูกองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบในฐานะผู้แทนของประชาชนได้
การตรวจสอบโดยกระบวนการทางการเมืองนั้นสามารถทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ
องค์กรตุลาการหรือศาล ในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอิสระจากการแทรกแซงของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จึงเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือว่ามีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ศาลจะเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบให้การใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น
การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองโดยศาลปกครอง หรือการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
การตรวจสอบโดยองค์กรอิสระนี้ อิสระในแง่นี้ มีความหมายคล้ายคลึงกับความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ กล่าวคือ องค์กรอิสระนี้จะต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงจากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยมีกฎหมายกำหนดสถานะความเป็นอิสระและเป็นกลางขององค์กรอิสระเอาไว้ เช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่ออาศัยกลไกการตรวจสอบทั้ง 3 ทางช่วยกันตามแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์