ข้อตกลงระหว่างประเทศ :
รัฐตกลงกันแล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับเรา
ข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ การตกลงระหว่างรัฐกับรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป
สนธิสัญญา คือเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ในทางกฎหมาย โดยมากเกิดขึ้นระหว่างระหว่างรัฐกับรัฐ
สนธิสัญญามี 2 แบบ คือ ทวิภาคี
(มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย) กับ พหุภาคี
(มีคู่สัญญามากกว่าสองฝ่ายขึ้นไป)
การที่สนธิสัญญาใดจะมีผลใช้บังคับในประเทศไทย จำต้องมีการออกกฎหมายภายในมารับรองเสียก่อน โดยมาทำใน
รูปแบบของพระราชบัญญัติ
ความเป็นมาของข้อตกลงระหว่างประเทศ
กฎหมายว่าด้วยสนธิสัญญาเกิดจากแนวทางการปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการจัดทำความตกลง ข้อตกลง และการเคารพข้อตกลงระหว่างกัน แนวทางปฏิบัตินี้ใช้กันแพร่หลายจนกลายเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) และต่อมาได้มีการประมวลขึ้นเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ซึ่งมีลักษณะเป็นความตกลงระหว่างประเทศในรูปแปลายลักษณ์อักษร กระทำขึ้นโดยรัฐ และอยู่ในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันกฎหมายจารีตประเพณีอื่นๆ ที่มิได้ระบุในอนุสัญญานี้ยังคงถือว่ามีผลใช้บังคับ
ลักษณะของสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
- เป็นความตกลงระหว่างรัฐหรือรัฐบาล หมายความว่า สนธิสัญญานั้นเกิดจากการเห็นพ้องต้องกัน โดยหากเป็นข้อตกลงของสองฝ่ายขึ้นไปจะเรียกว่า ข้อตกลงพหุภาคี ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่ข้อตกลงระหว่างประเทศจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
- ทำขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่กฎหมายภายในประเทศของรัฐใดรัฐหนึ่ง
- มุ่งให้เกิดผลผูกพันหรือพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กัน ก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ความหมายของสนธิสัญญา
ข้อตกลงระหว่างประเทศ หมายถึง การตกลงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับองค์กรระหว่างประเทศตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการยุติสงคราม ข้อตกลงการค้าเสรี ข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองมรดกโลก เป็นต้น
โดยการตกลงดังกล่าวอาจปรากฏในรูปแบบของเอกสารซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามรูปแบบของการประชุมเจรจา เพื่อยกร่างและลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ภาคี กล่าวคือ ในบางครั้งอาจเรียกว่า สนธิสัญญา (Treaty) ความตกลง (Agreement) พิธีสาร (Protocol) บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding - MOU) ข้อตกลง (Arrangement) หรือหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Notes) เป็นต้น รวมถึงคำว่า หนังสือสัญญา ที่ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ความผูกพันตามกฎหมายนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับชื่อเรียก แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่มุ่งประสงค์ให้เกิดความตกลงต่อภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
โดยทั่วไป การทำข้อตกลงระหว่างประเทศจะเริ่มจากการเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐที่ประสงค์จะทำการตกลงกัน เมื่อเจรจากันจนบรรลุข้อตกลงแล้ว อาจจะใช้เพียงการลงนามโดยผู้แทนรัฐ เพื่อแสดงความยินยอมให้ข้อตกลงมีผลผูกพันกันก็ได้ หรือจะกำหนดให้มีการดำเนินการตามเงื่อนไข หรือวิธีอื่นใดให้แล้วเสร็จก่อนข้อตกลงดังกล่าว จึงจะมีผลผูกพันระหว่างภาคีก็ย่อมได้เช่นกัน อาทิ เพียงลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวจะไม่ผูกพัน ต้องมีการให้สัตยาบันจากรัฐภาคีก่อน หรือต้องมีรัฐภาคลงนามครบ 30 ประเทศก่อน จึงจะมีผลใช้บังคับ เป็นต้น
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเนื้อหาในข้อตกลงที่ผู้แทนไปทำไว้ก็ได้ อย่างไรก็ดี รัฐไม่จำต้องยินยอมกับข้อสัญญาทุกข้อในข้อตกลงระหว่างประเทศ กล่าวคือ รัฐสามารถตั้งข้อสงวน (Reservation) ของตนเองไว้ได้ เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องมีพันธกรณีที่ต้องทำตามข้อตกลงข้อนั้น มากไปกว่านั้น หากภาคีคู่สัญญาไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อสงวนดังกล่าว ผลก็จะกลายเป็นว่าระหว่างรัฐทั้งสองนั้นก็จะไม่มีข้อสัญญาข้อนั้นบังคับใช้ระหว่างสองรัฐนั้น แต่ข้อสัญญาดังกล่าว ยังสามารถใช้ได้กับคู่สัญญาอื่นในสนธิสัญญานั้นด้วยเหตุที่ว่าคู่สัญญาอื่นไม่ได้ตั้งข้อสงวนในข้อสัญยานั้นไว้นั่นเอง
จึงต้องพิจารณาต่อมาว่า การปฏิเสธความผูกพันระหว่างข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทำลงไปหรือทำให้ผลผูกพันสิ้นสุดลง จะทำได้โดยการยกกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของข้อตกลงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศขึ้นอ้างได้หรือไม่ เช่น ข้อตกลงที่ทำไปนั้นขัดกับกฎหมายเด็ดขาด (Jus Cogen) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่สามารถตกลงกันเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น หากทำข้อตกลงใดที่ขัดต่อกฎหมายเด็ดขาดก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ เช่น ตกลงเพื่อร่วมกันรุกรานรัฐอื่น ตกลงร่วมกันค้าทาส เป็นต้น
หรือในกรณีที่ข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นบกพร่องด้วยเหตุอันไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น พิมพ์ผิดพลาด คู่กรณีอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่สำหรับข้อตกลงที่สมบูรณ์ แต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามหรือมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องปฏิบัติตามข้อตกลง ก็ต้องเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหรือเสนอคดีเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เช่น การเสนอต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากเกิดกรณีที่กฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐตกลงกันเกิดความบกพร่องอันมิใช่สาระสำคัญ เช่น มีการสะกดคำผิด พิมพ์วันที่ผิดพลาด กรณีนี้รัฐอาจตกลงกันเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ในกรณีที่ข้อตกลงระหว่างประเทศมีความสมบูรณ์แล้ว แต่ภาคีในข้อตกลงนั้น ไม่อาจปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงไว้ตามข้อตกลงดังกล่าวได้ อาจเกิดเพราะภาคีมีการตั้งข้อสงวนในข้อใดไว้ หรือ ภาคีไม่เห็นด้วยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ หรือ ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามทั้งที่มีพันธกรณีอยู่ ภาคีตามข้อตกลงในเรื่องนั้นๆ ที่ได้รับความเสียหาย ก็สามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีอีกฝ่ายได้สัญญาไว้
ทั้งนี้ หากภาคีที่ฝ่าฝืนยังคงไม่ทำตามข้อตกลงดังกล่าว แล้วก่อให้เกิดความเสียหายในทางระหว่างประเทศขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถนำข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องเสนอต่อองค์กรตุลาการระหว่างประเทศ เช่น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) องค์กรระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก
ประเภทของสนธิสัญญา
พิจารณาจากจำนวนประเทศที่เป็นภาคี (ประเทศคู่สัญญา)
- สนธิสัญญาทวิภาคี (Bilateral treaty) หมายถึง สนธิสัญญาสองฝ่าย หรือสนธิสัญญาที่มีคู่ภาคี 2 ฝ่าย
- สนธิสัญญาพหุภาคี (Multilateral treaty) หมายถึง สนธิสัญญาที่มีผู้เข้าร่วมเจราจาหรือร่วมลงนามมากกว่า 2 ฝ่ายขึ้นไป
พิจารณาจากฐานะของผู้เข้าร่วมการทำสนธิสัญญา
สนธิสัญญาที่ทำโดยประมุขของรัฐ ถือเป็นอัครภาคีผู้ทำสัญญา
- สนธิสัญญาที่ทำโดยรัฐบาล เป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาล
- สนธิสัญญาที่ทำโดยรัฐ เป็นสนธิสัญญาที่มุ่งให้เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ
- สนธิสัญญาที่ทำโดยรัฐมนตรี
- สนธิสัญญาที่ทำโดยหน่วยงานของรัฐบาล
- สนธิสัญญาที่ทำโดยประมุขของรัฐบาล
พิจารณาจากชื่อที่ใช้เรียก
สนธิสัญญา (Treaty) เป็นข้อตกลงสำคัญเป็นทางการที่กระทำโดยรัฐ มักเป็นความตกลงทางการเมือง
- อนุสัญญา (Convention) ปกติใช้กับเอกสารทางความตกลงทางการที่มีลักษณะเป็นพหุภาคี หรือเอกสารความตกลงที่ร่างขึ้นโดยองค์การของสถาบันระหว่างประเทศ
- พิธีสาร (Protocol) เป็นความตกลงที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญาหรืออนุสัญญา และไม่ใช่ความตกลงที่กระทำโดยประมุขของรัฐ
- ความตกลง (agreement) เป็นเอกสารที่มีลักษณะเป็นทางการน้อยกว่าสนธิสัญญาหรืออนุสัญญา และไม่ได้กระทำโดยประมุขของรัฐ ปกติเราใช้ความตกลงในลักษณะที่มีขอบเขตจำกัด หรือมีลักษณะไม่ถาวร และมีภาคีน้อยกว่าภาคีในอนุสัญญาตามปกติ
- บันทึกหรือหนังสือแลกเปลี่ยน เป็นวิธีที่ไม่เป็นทางการ โดยรัฐอาจจะแสดงเจตนารมณ์ว่ายอมรับพันธกรณีบางอย่างและสงวนสิทธิบางอย่างของรัฐไว้ก็ได้
- ข้อตกลง (arrangement) ใช้เรื่องความตกลงที่มีลักษณะชั่วคราวหรือเฉพาะกาล
ภาคีในสนธิสัญญาและรัฐที่ 3
ภาคีในสนธิสัญญา หมายถึง ผู้ที่เข้าร่วมการเจรจา ตกลง และลงนาม หรือให้สัตยาบันสนธิสัญญา ซึ่งเป็นการยอมรับพันธกรณีตามสนธิสัญญา โดยหลักการทั่วไป สนธิสัญญา่จะก่อการผูกพันหรือให้สิทธิแก่ฝ่ายที่ 3 โดยปราศจากความยินยอมของฝ่ายนั้นไม่ได้ ยกเว้น
- สนธิสัญญาซึ่งภาคีตั้งใจให้สิทธิแก่รัฐที่ 3
- สนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งเป็นการประมวลกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
- สนธิสัญญาพหุภาคีที่สร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ
- สนธิสัญญาพหุภาคีที่มุ่งให้ใช้ปฏิบัติทั่วไป
- สนธิสัญญาซึ่งภาคีมุ่งให้เกิดพันธกรณีแก่รัฐที่ 3 โดยทั่วไป
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
การที่สนธิสัญญาจะมีผลใช้บังคับภายในประเทศไทยนั้น ไทยจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการรับเอาสนธิสัญญานั้นมาเป็นกฎหมายภายในประเทศด้วย เพราะไทยเป็นประเทศที่รับเอาสนธิสัญญามาแบบทวินิยม ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายภายในมารับรองก่อน ซึ่งโดยส่วนมากจะทำในรูปแบบของการออกพระราชบัญญัติให้อนุวัติการกฎหมายนั้นเข้ามาใช้ภายในประเทศไทย แล้วทำการแปลสนธิสัญญานั้นเป็นภาษาไทยแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ : ต้องทำตัวอย่างไร
ในระหว่างสงคราม
กฎหมายว่าด้วยมนุษยธรรม (International Humanitarian Law) เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศที่จะนำมาใช้เมื่อรัฐเกิดการขัดกันทางอาวุธ (armed conflict) ไม่ว่าจะเป็นการขัดกันทางอาวุธภายในประเทศ (Non-International Armed Conflict-NIAC) หรือ การขัดกันทางอาวุธระหว่างประเทศ (International Armed Conflict-IAC) กฎหมายนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า กฎหมายของสงคราม หรือ กฎของสงคราม โดยเป็น
การกำหนดมาตรการที่จะปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของสงคราม หาใช่กฎหมายที่บอกว่ารัฐจะใช้กำลังอย่างไรต่อกันได้บ้าง
โดยตามธรรมนูญกรุงโรมนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจในฐานความผิดทั้ง 4 ดังต่อไปนี้
- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- อาชญากรรมสงคราม
- อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
- อาชญากรรมรุกราน
โดยในส่วนของไทยเพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม แต่มิได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีในธรรมนูญดังกล่าวแต่อย่างใด
กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศได้บัญญัติหลักการไว้ใน Geneva Convention ทั้งสี่ฉบับในปี ปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเกือบทุกประเทศในโลกได้ให้การรับรอง และต่อมาได้เพิ่มเติมพิธีสารเลือกรับเกี่ยวกับการปกป้องเหยื่อจากความขัดแย้งทางอาวุธด้วยในปี 1977 และต่อมามีการกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการห้ามใช้อาวุธชีวภาพในปี 1972 การห้ามใช้ทุ่นระเบิดฝังดินในปี 1997 การห้ามใช้อาวุธเคมีในปี 1993 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเด็กกับการมีส่วนร่วมในการสงครามในปี 2000
ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งถึงขั้นต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่มิได้มีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (NIAC) ศาลอาญาระหว่างประเทศ มีอำนาจศาลพิจารณาความผิดที่เป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงตามมาตรา 3 ร่วม (Common Article 3) ที่มีบัญญัติเหมือนกันในอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับ ที่ว่าด้วยการกระทำความผิดต่อบุคคล “ที่มิได้เข้าร่วมหรือมีส่วนในความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน” ดังต่อไปนี้ :
- การกระทำรุนแรงต่อชีวิตและการฆ่า การตัดเฉือนชิ้นส่วนหรืออวัยวะของร่างกาย การปฏิบัติอย่างโหดร้ายและการทำทารุณ
- การกระทำที่เหยียดหยามศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะการกระทำที่ให้บุคคลอื่นอับอาย ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรงมาก
- จับบุคคลอื่นเป็นตัวประกัน
- การลงโทษหรือประหารชีวิตโดยปราศจากการดำเนินการพิจารณาคดีโดยศาล ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามปกติเพื่อเป็นการให้หลักประกันด้านยุติธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่ขาดมิได้
นอกจากนี้แล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศยังมีอำนาจพิจารณาคดีที่เป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามพิธีสารฉบับที่ 2 ของอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งรวมทั้งกรณีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่อประชากรที่เป็นพลเรือนโดยรวม หรือต่อพลเรือนเป็นรายบุคคล ซึ่งไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
- การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่ออาคารบ้านเรือน วัสดุสิ่งของ หน่วยแพทย์หรือพยาบาล ยานพาหนะหรือบุคลากรที่ใช้ตราเครื่องหมายเฉพาะต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวา (เช่น ตราสัญลักษณ์ของกาชาด หรือเสี้ยววงเดือนแดง)
- การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่อบุคลากรหรือยานพาหนะที่ใช้ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือในภารกิจการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (Peacekeeping mission)
- การสั่งให้โจมตีโดยเจตนาต่ออาคาร สิ่งก่อสร้างทางศาสนา การศึกษา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ หรือเพื่อการกุศลอื่นใด สถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
โรงพยาบาล และสถานที่อื่นๆ ที่ใช้เป็นที่รวมของผู้ที่เจ็บป่วยหรือผู้ที่บาดเจ็บ โดยที่สถานดังกล่าวข้างต้นมิได้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารแต่อย่างใด - การปล้นสะดม เมืองหรือสถานที่ต่าง ๆ แม้ว่าจะกระทำขณะเข้าโจมตีก็ตาม
- การข่มขืนกระทำชำเรา การบังคับให้เป็นทาสทางเพศ การบังคับให้เป็นโสเภณี บังคับให้ตั้งครรภ์ บังคับให้ทำหมั้น และการกระทำรุนแรงทางเพศด้วยรูปแบบวิธีการอื่น ๆ
- บังคับหรือเกณฑ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นเข้าร่วมในกองกำลังติดอาวุธ หรือ กลุ่มติดอาวุธ หรือ ใช้ให้เด็กๆ เข้าร่วมอย่างแท้จริงในกรณีขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
- การสั่งให้โยกย้ายประชาชนที่เป็นพลเรือน ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับกรณีขัดแย้งที่ขาดความชอบธรรม เว้นแต่กรณีที่ทำเพื่อความปลอดภัยของพลเรือนหรือเหตุผลทางด้านความจำเป็นทางทหารบังคับ
- การฆ่าหรือทำให้พลรบฝ่ายปรปักษ์ได้รับบาดเจ็บอย่างโหดเหี้ยมทารุณ
- การประกาศว่าจะไม่ไว้ชีวิตแก่ฝ่ายที่เป็นอริศัตรูหรือฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าจะยอมจำนนหรือยอมแพ้แล้วก็ตาม
- การทำให้บุคคลของฝ่ายตรงข้ามที่อยู่ภายใต้อำนาจของตนถูกตัดเฉือนอวัยวะหรือชิ้นส่วนใดๆ ของร่างกาย หรือใช้เป็นเครื่องทดลองทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าทดลองประเภทใดก็ตามที่ขาดความชอบธรรมทางการแพทย์ ทางทันตกรรม หรือทางการรักษาพยาบาล อันจะนำไปสู่อันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพหรือการตายของบุคคลนั้น
- การทำลายหรือยึดทรัพย์สินของฝ่ายตรงกันข้าม นอกเสียจากว่า การทำลายหรือการยึดครองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ในกรณีขัดแย้ง
โดยปัจจุบัน ไทยได้ให้สัตยาบันในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศทั้งสิ้นจำนวน 26 ฉบับ และลงนามไว้แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันจำนวน 5 ฉบับ ดังนี้
สนธิสัญญาที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว (มีผลผูกพันไทยแต่จะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อไทยออกกฎหมายภายในรับรองกฎหมายนั้น)
- Hague Convention on Hospital Ships, 1904
- Hague Convention (XI) on Restrictions of the Right of Capture, 1907
- Geneva Conventions, 1949
- Convention on the Rights of the Child, 1989
- Optional Protocol on the involvement of children in armed conflict, 2000
- Hague Convention (II) on the Laws and Customs of War on Land, 1899
- Hague Declaration (IV,2) concerning Asphyxiating Gases, 1899
- Hague Declaration (IV,3) concerning Expanding Bullets, 1899
- Hague Convention (IV) on War on Land and its Annexed Regulations, 1907
- Hague Declaration (XIV) on Explosives from Balloons, 1907
- Geneva Protocol on Asphyxiating or Poisonous Gases, and of Bacteriological Methods, 1925
- Convention on the Prohibition of Biological Weapons, 1972
- Convention prohibiting Chemical Weapons, 1993
- Anti-Personnel Mine Ban Convention, 1997
- Hague Convention (VI) on Enemy Merchant Ships, 1907
- Hague Convention (VII) on Conversion of Merchant Ships, 1907
- Hague Convention (VIII) on Submarine Mines, 1907
- Hague Convention (IX) on Bombardment by Naval Forces, 1907
- Hague Convention (XI) on Restrictions of the Right of Capture, 1907
- Hague Convention (XIII) on Neutral Powers in Naval War, 1907
- Procès-verbal on Submarine Warfare of the Treaty of London, 1936
- Hague Convention for the Protection of Cultural Property, 1954
- Hague Convention (III) on the Opening of Hostilities, 1907
- Hague Convention (V) on Neutral Powers in case of War on Land, 1907
สนธิสัญญาที่ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน (จะยังไม่มีผลบังคับในไทยจนกว่าไทยจะให้สัตยาบันและออกกฎหมายภายในรับรองกฎหมายนั้น)
- Final Act of the Geneva Conference, 1949
- Final Act of the Diplomatic Geneva Conference, 1974-1977
- Statute of the International Criminal Court, 1998
- Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance, 2006
- Arms Trade Treaty, 2013