แม้ในช่วงศตวรรษที่ 18 สิทธิมนุษยชนจะได้รับการยอมรับเป็นสิทธิทางกฎหมายในเอกสารสำคัญในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองและการก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ เช่น คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมืองของฝรั่งเศส
(The Declaration of the Rights of Man and Citizen) ในปี 1789 หรือ บัญญัติสิทธิของสหรัฐอเมริกา (United States Bill of Rights) ในปี 1791
และในกฎหมายรัฐธรรมนูญของอีกหลายประเทศ แต่ว่ายังไม่มีเอกสารฉบับใดในโลก ที่แสดงถึงความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นสากลว่าสิทธิมนุษยชนที่ควรได้รับการคุ้มครองเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ คือสิทธิอะไรบ้าง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความโหดร้ายทารุณของสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกระทําย่ำยีที่มนุษย์ได้กระทําต่อมนุษย์ด้วยกัน สหประชาชาติซึ่งก่อตั้งโดยประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องสันติภาพโลก จึงมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและได้มอบหมายให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยกร่างรายการ บัญญัติสิทธิระหว่างประเทศขึ้น (International Bill of Rights) ตัวแทนประเทศต่างๆ ได้อภิปรายถกเถียงกันและจัดทำรายการสิทธิมนุษยชนอันมีความสำคัญขึ้น เพื่อเสนอให้สมาชิกสหประชาชาติพิจารณาและลงนามรับรองประกาศเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ด้วยมติเอกฉันท์ในวันที่ 10 ธันวาคม 1948
หลักความเสมอภาค
หลักการไม่เลือกปฎิบัติ
ความแตกต่างของสิทธิทั้งสองประเภทที่สำคัญประการหนึ่งคือ สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง นั้นส่วนใหญ่เป็น สิทธิเชิงลบ (Negative rights) คือ สิทธิในเสรีภาพที่จะไม่ถูกแทรกแซงโดยรัฐหรือผู้อื่น ไม่ถูกห้ามให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ เช่น รัฐจะต้องไม่ห้ามบุคคลสวมใส่เสื้อผ้าที่แสดงออกซึ่งความเชื่อทางศาสนา เพื่อเป็นการเคารพเสรีภาพในศาสนาและความเชื่อ สิทธิประเภทนี้ ต้องการให้รัฐเคารพสิทธิด้วยการไม่ละเมิด มากกว่าจะให้ดำเนินมาตรการเพื่อคุ้มครองหรือเติมเต็ม
ในทางกลับกัน สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนั้น มักมีลักษณะเป็น สิทธิเชิงบวก (Positive rights) คือ จะต้องให้รัฐดำเนินมาตรการส่งเสริม จึงจะเกิดขึ้นได้จริง เช่น รัฐจะต้องสร้างโรงเรียนและผลิตครูให้เพียงพอ ประชาชนจึงจะเข้าถึงสิทธิในการศึกษาได้
สิทธิทั้งสองประเภทนี้ มีความเชื่อมโยงกันและไม่สามารถแยกออกจากกัน (indivisible) หรือเลือกคุ้มครองเฉพาะบางประเภทได้
ปฏิญญาฯ เป็นเพียงคำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐสมาชิกสหประชาชาติ ไม่ได้มีสถานะเป็นสนธิสัญญา
จึงไม่ผูกพันทางกฎหมายกับรัฐต่างๆ หากแต่เนื้อหาของปฏิญญานั้น ถูกพัฒนาไปบรรจุรายละเอียดอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญคือ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)” ซึ่งสะท้อนสิทธิในข้อ 3 - 21 และ
“กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic Social and Cultural Rights - ICESCR)” ซึ่งสะท้อนสิทธิในข้อ 22 - 28
รวมไปถึงถูกอ้างอิงในกฎหมายและคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอีกมากมายทั้งในระบบกฎหมายระหว่างประเทศและระบบกฎหมายของรัฐต่างๆ ทั่วโลก เนื้อหาของหลายสิทธิที่ระบุไว้ในปฏิญญาฯ จึงมีสถานะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐทุกรัฐบนโลกด้วย