ฝนกรด คือ น้ำฝนที่มีฤทธิ์เป็นกรด โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดซัลฟิวริก (H2SO4) และกรดไนตริก (HNO3) ที่เกิดมาจากมลภาวะทางอากาศ
กรดซัลฟิวริก จากแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่เกิดมาจากการเผาไหม้ของถ่านหินที่มีปริมาณกำมะถันสูง ละลายในน้ำเกิดเป็นกรดซัลฟิวรัส (H2SO3) และเมื่อกรดซัลฟิวรัสอยู่ในสภาวะที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หรือโอโซน มันจะถูกออกซิไดซ์เกิดเป็นกรดซัลฟิวริก
ดังสมการ (1)
นอกจากนั้นแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยังสามารถถูกออกซิไดซ์ในบรรยากาศเปลี่ยนเป็นแก๊สซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) เมื่อละลายน้ำจะได้เป็นกรดซัลฟิวริกเช่นกัน
ดังสมการ (2)
กรดไนตริก จากแก๊สไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในรูปต่างๆ ที่เกิดจากแก๊สไนโตรเจน และ แก๊สออกซิเจน ในห้องเผาไหม้ของรถยนต์ และที่เกิดจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงกลางวันแก๊ส NO จะเปลี่ยนเป็น NO2 และกรดไนตริก ส่วนในช่วงกลางคืนแก๊ส NOx จะถูกเปลี่ยนเป็นแก๊ส N2O5 ซึ่งเมื่อละลายน้ำจะให้กรดไนตริก
ดังสมการ (3)
โดยปกติน้ำฝนจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ได้จากการละลายของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศ
ดังสมการ (4)
ผลของฝนกรด ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลงเพราะหลายสายพันธุ์จะตายถ้าน้ำมีค่าความเป็นกรด-เบสต่ำกว่า 5 และยังทำลายป่าไม้
อลูมิโนซิลิเกต องค์ประกอบของดินซึ่งปกติจะไม่ละลายในน้ำ แต่จะละลายได้ในสารละลายกรด ทำให้เกิด Al3+ ที่เป็นพิษร้ายแรงต่อปลา นอกจากนั้นไอออนต่างๆ ที่เป็นสารอาหารที่จำเป็นของพืช และสัตว์ เช่น Ca2+ และ Mg2+ ก็จะละลาย และถูกพัดพาไปกับสายน้ำ
หินอ่อน และหินปูนในสิ่งก่อสร้าง รูปปั้น และอนุสาวรีย์ จะทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟิวริก และกลายเป็นยิปซัม (CaSO4×2H2O) ซึ่งจะหลุดร่อนออก ทำให้รูปปั้น อนุสาวรีย์ สิ่งปลูกสร้างเก่าๆ และสถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเสียหาย
การป้องกันฝนกรด คือ การลดปริมาณแก๊ส SO2 และแก๊ส NOx ที่จะเข้าสู่บรรยากาศ ในกรณีของแก๊ส SO2 การลดปริมาณแก๊สสามารถทำได้โดยใช้เครื่องฟอกอากาศโดยใช้ละอองน้ำ (scrubber) กับละอองหินปูนเพื่อละลายแก๊สพิษออก หรือการให้แก๊สทำปฏิกิริยากับมีเทน หรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นกำมะถัน
ดังสมการ (5)
ส่วนกรณีของแก๊ส NOx สามารถลดปริมาณแก๊สได้โดยใช้ระบบแคทตาไลติกคอนเวอร์เตอร์ เพื่อเปลี่ยนแก๊สพิษให้เป็นแก๊ส N2 การลดปริมาณแก๊ส NOx ในโรงงานไฟฟ้า ใช้การผ่านแก๊สร้อนเข้าทำปฏิกิริยากับแก๊สแอมโมเนีย ภายใต้ภาวะที่มีตัวเร่งปฏิกิริยา
ดังสมการ (6)
นอกจากนั้นยังมีการเติมปูนขาวลงในแหล่งน้ำ เพื่อปัองกันไม่ให้กรดทำให้เกิดความเสียหายกับสัตว์น้ำและพืชน้ำ
การทำขนมปัง ให้พองตัวใหญ่ และนุ่ม เกิดจากการทำให้มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดขึ้นระหว่างการทำ โดยปกติแก๊ส CO2 จะเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่างโซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือเบกิ้งโซดา กับกรด ในการทำคุกกี้ หรือมัฟฟิน คนทำขนมจะผสม NaHCO3 กับ โปแตชเซียมไฮโดรเจนทาเทรต (KHC4H4O6) ที่มีน้ำร่วมเป็นส่วนผสม แก๊ส CO2 ที่เกิดขึ้นตอนผสมแป้งกับสารทั้งหมดนั้น จะถูกขังไว้ในแป้ง และจะขยายพองตัวออกเมื่อถูกความร้อน จึงทำให้ขนมฟูขึ้น และมีเนื้อนุ่ม
ดังปฏิกิริยา (7)
สำหรับผงฟูนั้นเป็นของผสมของไฮโดรเจนคาร์บอนเนตไอออน กับกรด ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊ส CO2 ช่วยในการทำขนมเหมือนกัน แต่ปฏิกิริยาการเกิดไม่เหมือนกัน ดังสมการ (8)
ยาลดกรด ดั้งเดิมที่ใช้คือไฮโดรเจนคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือเรียกว่า เบกิ้งโซดา เพื่อใช้ทำปฏิกิริยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหาร แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในคนที่มีโรคความดันสูงเพราะการมีความเข้มข้นของโซเดียมไอออนมากจะส่งผลให้อาการแย่ลง ในยาลดกรดนอกจากมี NaHCO3 ยังมีกรดซิตริก และ แอสไพริน เมื่อนำยาลดกรดที่มี NaHCO3 ละลายลงในน้ำ จะเกิดปฏิกิริยาระหว่าง HCO3- ไอออน กับ H3O+ ไอออน จากกรด เกิดแก๊ส CO2 เช่นเดียวกับสมการ (8)
อีกองค์ประกอบหนึ่งในยาลดกรดคือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) คาร์บอเนตไอออน (CO32-) จะทำปฏิกิริยาสะเทินกรดและให้แก๊ส CO2
ดังสมการ (9)
อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Al(OH)3) เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของยาลดกรด ไฮดรอกไซด์ไอออน (OH-) จะทำปฏิกิริยาสะเทินกรด
ดังสมการ (10)
แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า Al3+ ไอออน ที่เกิดจะทำปฏิกิริยากับฟอสเฟตไอออน (PO43-) ดังสมการ (11) ทำให้ปริมาณ PO43- ไอออนที่จำเป็นต่อร่างกายน้อยลง
นอกจากนั้นสารประกอบของแมกเนเซียมก็ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของยาลดกรด โดยประกอบด้วย MgCO3 และ Mg(OH)2
ผลข้างเคียงของยาลดกรด เช่น Al(OH)3 อาจก่อให้เกิดอาการท้องผูก ส่วนสารประกอบของแมกเนเซียมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย