ผลกระทบจากการใช้และการกำจัดผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์และแนวทางแก้ไข
วัสดุจากพอลิเมอร์เป็นวัสดุที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะพอลิเมอร์สังเคราะห์ในกลุ่มพลาสติก ซึ่งมีน้ำหนักเบา ความแข็งแกร่งสูง และทนทานต่อสารเคมีต่างๆ ซึ่งมีทั้งพอลิเมอร์ชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และไม่ได้อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์สังเคราะห์เหล่านี้ก็มีข้อเสีย
ข้อเสีย
สลายตัวได้ยาก และจะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ยากต่อการกำจัด
เนื่องจาก
- หากเผาจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อชั้นบรรยากาศและทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต
- หากนำไปฝังก็จะทำให้ดินบริเวณนั้นเสื่อมสภาพไม่สามารถเพาะปลูกได้
นอกจากนี้การทิ้งขยะพลาสติกโดยขาดการจัดการที่ดีก็อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาได้ เช่น เกิดน้ำท่วม เนื่องจากขยะพลาสติกไปอุดตามท่อระบายน้ำ เป็นที่สะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ เป็นต้น
แนวทางแก้ไข
จากปัญหาขยะพอลิเมอร์สังเคราะห์ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน จึงมีการรณรงค์เกี่ยวกับแนวทางการใช้พอลิเมอร์สังเคราะห์อย่างคุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
โดยมี 2 แนวทาง ดังนี้
ใช้หลักเกณฑ์มาตรฐาน 3 แบบ คือ Reduce-Reuse-Recycle ซึ่งหมายถึง การลดการใช้-การนำกลับมาใช้ใหม่-การรีไซเคิล
- การลดการใช้ คือ การลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์สังเคราะห์ให้น้อยลง
- การนำกลับมาใช้ใหม่ คือ การนำผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์สังเคราะห์ที่เคยผ่านการใช้งานแล้ว แต่ยังมีคุณภาพดีอยู่กลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง
- การรีไซเคิล คือ การนำผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์สังเคราะห์ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาผ่านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อนำกลับมาใช้งานอีก เช่น การนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปหลอมและขึ้นรูปใหม่เพื่อนำกลับมาใช้งานอีก
ใช้พอลิเมอร์ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (Biodegradable polymer) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เกิดจากการทำงานของจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ประสิทธิภาพของกระบวนการในการย่อยสลายสามารถวัดได้โดยวิธีการทดสอบมาตรฐาน โดยการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น
ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ ดังนี้
- สารประกอบเชิงซ้อนจากการย่อยสลาย จะมีคุณสมบัติในการช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน สารอาหารให้แก่ดิน และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและลดการเกิดโรคในพืช
- ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ในการกำจัดขยะจากการฝังกลบ
- เพิ่มศักยภาพในการผลิตแก๊สมีเทนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง
- ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางการหายใจของสิ่งมีชีวิต และลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก
อย่างไรก็ตามการใช้พอลิเมอร์ชนิดนี้อาจมีข้อเสียบางประการ เช่น
- ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำจากการเพิ่มของค่าความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biological oxygen demand, BOD) และค่าความต้องการออกซิเจนทางเคมี (Chemical oxygen demand, COD) อันเนื่องมาจากการมีปริมาณสารอินทรีย์ หรือสารอาหารในแหล่งน้ำในปริมาณสูง ทำให้จุลินทรีย์มีความต้องการใช้ออกซิเจนในน้ำสูงขึ้นด้วย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ทางน้ำ
- เกิดการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการย่อยสลายของพลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อม อาจทำให้สารเติมแต่งต่างๆ รวมถึง สี พลาสติกไซเซอร์ สารคะตะลิสต์ที่ตกค้าง รั่วไหลและปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำใต้ดินและบนดิน ซึ่งสารบางชนิดอาจมีความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์
- เกิดมลภาวะจากขยะอันเนื่องมาจากการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ถูกทิ้งหรือตกลงในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาวะไม่เหมาะสมต่อการย่อยสลาย ซึ่งมีปริมาณจุลินทรีย์ไม่มากพอ