ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์

MEDIUM

ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์

HARD

ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์

เนื้อหา

พอลิเมอร์

พอลิเมอร์ (Polymer) เป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ที่เกิดจากโมเลกุลเล็กๆ เรียกว่า มอนอเมอร์ (Monomer) จำนวนมากมาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนต์ ปฏิกิริยาที่มอนอเมอร์รวมตัวกันเป็นพอลิเมอร์ เรียกว่า ปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชัน (Polymerization)

ประเภทของพอลิเมอร์

แบ่งโดยใช้เกณฑ์พิจารณาดังต่อไปนี้

การแบ่งตามแหล่งกำเนิด

แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. พอลิเมอร์ธรรมชาติ (Natural polymer) เป็นพอลิเมอร์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติช่น แป้ง ไกลโคเจน และเซลลูโลส พอลิเมอร์ทั้งสามชนิดมีโมเลกุลของกลูโคสเป็นมอนอเมอร์ โปรตีน เป็นพอลิเมอร์ที่มีกรดอะมิโนเป็นมอนอเมอร์ DNA และ RNA เป็นพอลิเมอร์ที่มีนิวคลีโอไทด์เป็นมอนอเมอร์ ยางธรรมชาติ และเส้นใยธรรมชาติ ฝ้าย ใยไหม เป็นต้น
  2. พอลิเมอร์สังเคราะห์ (Synthetic polymer) เป็นพอลิเมอร์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่น พลาสติกชนิดต่างๆ ยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ และเมลามีน เป็นต้น

การแบ่งตามส่วนประกอบของพอลิเมอร์

แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. โฮโมพอลิเมอร์ (Homopolymer) เป็น พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ชนิดเดียวกันหลายๆ โมเลกุลมาเชื่อมต่อกัน เช่น พอลิเอทิลีน (PE) เกิดจากโมเลกุลของเอทิลีน (CH2=CH2) หลายโมเลกุลมาเชื่อมต่อกัน


    โฮโมพอลิเมอร์จากธรรมชาติ เช่น แป้ง ไกลโคเจน เซลลูโลส มีโมเลกุลของกลูโคสเป็นมอนอเมอร์  ยางธรรมชาติ มีโมเลกุลของไอโซพรีนเป็นมอนอเมอร์ เป็นต้น

    โฮโมพอลิเมอร์จากการสังเคราะห์ เช่น พอลิเอทิลีนมีโมเลกุลของเอทิลีนเป็นมอนอเมอร์ และพอลิไวนิลคลอไรด์มีโมเลกุลของไวนิลคลอไรด์เป็นมอนอเมอร์ เป็นต้น
  2. โคพอลิเมอร์หรือพอลิเมอร์ร่วม (Copolymer) เป็น พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ที่เป็นสารต่างชนิดกันมาเชื่อมต่อกัน เช่น ไนลอน 6,6 เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างเฮกซะเมทิลีนไดเอมีนกับกรดอะดิปิก

โคพอลิเมอร์ธรรมชาติ เช่น โปรตีนที่มีกรดอะมิโนหลายชนิดมาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเพปไทด์

โคพอลิเมอร์สังเคราะห์ เช่น ยางเอสบีอาร์ที่มีบิวทาไดอีนและสไตรีนเป็นมอนอเมอร์ เป็นต้น

การแบ่งตามปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชัน

แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันแบบควบแน่น (Condensation polymerization) เกิดจาก มอนอเมอร์ที่มีหมู่ฟังก์ชันมากกว่า 1 หมู่ ทำปฏิกิริยากันเกิดเป็นพอลิเมอร์และสารโมเลกุลเล็กเป็นผลพลอยได้ เช่น น้ำ ไฮโดรเจนคลอไรด์ แอมโมเนีย หรือเมทานอล เช่น การสังเคราะห์ไนลอน 6,10 (พอลิเอไมด์) ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างเฮกซะเมทิลีนไดเอมีนกับซีบาคอลคลอไรด์และเกิดไฮโดรเจนคลอไรด์เป็นผลพลอยได้

  2. ปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันแบบเติม (Addition polymerization) เกิดจาก โมเลกุลของมอนอเมอร์ที่มีพันธะคู่ระหว่างคาร์บอนอะตอม เช่น เอทิลีน โพรพิลีน ไวนิลคลอไรด์ และสไตรีน เป็นต้น ทำปฏิกิริยาต่อกันบริเวณพันธะคู่ ได้ผลิตภัณฑ์เป็นพอลิเมอร์โดยไม่มีสารโมเลกุลเล็กเกิดขึ้น เช่น การสังเคราะห์พอลิไวนิลคลอไรด์จากไวนิลคลอไรด์มอนอเมอร์