คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม จำแนกเป็น ๒ ด้านหลัก ๆ คือ ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านวรรณศิลป์
๑. คุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม
วรรณคดีและวรรณกรรมไทยส่วนใหญ่ ปรากฏคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญ ดังนี้
๑.๑ การสะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรม
ของสังคมไทยในแต่ละสมัย
บทประพันธ์ | ความเชื่อ |
ถึงอับจนผลกรรมได้ทำมา จะก้มหน้าหนีไปในไพรวัน | เรื่องกรรม |
งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม ดังขวากแซมเสี้ยมแทรกแตกไสว ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง | เรื่องนรกหรือกรรม |
ซึ่งฝันว่าได้ดอกบัวชม จะได้คู่สู่สมพิสมัย | เรื่องฝันบอกเหตุ |
แมงมุมทุบอกอยู่ริมฝา หวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวมรณา | เรื่องลางบอกเหตุ |
ลุกออกจากห้องของสมภาร อธิษฐานแล้วก็เสกขี้ผึ้งสี | เรื่องไสยศาสตร์ |
ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง | เรื่องขวัญ |
ค่านิยม คือ สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย
บทประพันธ์ | ค่านิยม |
ผู้ใดเกิดเป็นสตรีอันมีศักดิ์ บำรุงรักกายไว้ให้เป็นผล สงวนงามตามระบอบให้ชอบกล จึงจะพ้นภัยพาลการนินทา เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง | เรื่องการรักนวลสงวนตัว |
เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ นอบนบใจใสสุทธิ์… อาสาเจ้าจนตัวตาย… | เรื่องความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ |
นาคีมิพิษเพี้ยง สุริโย เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้างฤทธี | เรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน |
- การสะท้อนขนบธรรมเนียม ประเพณี
และวัฒนธรรมอื่นๆ
- สะท้อนธรรมเนียมการปฏิบัติตน
เมื่อเข้าเฝ้าฯ เจ้านาย
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ
ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา - สะท้อนประเพณีไทย
ทีนี้จะกล่าวถึงเรื่องเมืองสุพรรณ
ยามสงกรานต์คนนั้นก็พร้อมหน้า
จะทำบุญให้ทานการศรัทธา
ต่างมาที่วัดป่าเลไลยก์
หญิงชายน้อยใหญ่ไปแออัด
ขนทรายเข้าวัดอยู่ขวักไขว่
ก่อพระเจดีย์ทรายเรี่ยรายไป
จะเลี้ยงพระกะไว้ในพรุ่งนี้
- สะท้อนวัฒนธรรมการแต่งกาย
เพียนทองงามดั่งทอง
ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย
ดุจสายสวาทคลาดจากสม
๑.๒ การให้ข้อคิดหรือคติธรรมสำหรับ
นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต
- ข้อคิดเรื่องการระวังคำพูด
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
พฤษภกาสร
อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง
สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย
มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี
ประดับไว้ในโลกา
- ข้อคิดเรื่องการไว้วางใจคน
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
๒. คุณค่าด้านวรรณศิลป์
คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ คุณค่าเกี่ยวกับความงาม อันเกิดจาก “วรรณศิลป์” หรือศิลปะในการประพันธ์ ซึ่งมีศิลปะในการประพันธ์ที่สำคัญ ดังนี้
๒.๑ การเล่นเสียง
แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
- การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะ คือ การใช้พยางค์ที่มีเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกันในตำแหน่งใกล้กัน แต่ต้องไม่ใช่พยางค์ที่ออกเสียงเหมือนกันทั้งพยางค์ เช่น
ความสุขและความสงบ จะประสบแก่ทุกท่าน
- การเล่นเสียงสัมผัสสระ คือ การใช้พยางค์ที่มีเสียงสระเสียงเดียวกัน กรณีที่มีพยัญชนะท้ายต้องเป็นพยัญชนะท้ายเสียงเดียวกัน อยู่ในตำแหน่งใกล้กัน แต่ต้องไม่ใช่พยางค์ที่ออกเสียงเหมือนกันทั้งพยางค์ เช่น
นกเขาผินบินข้ามภูเขาเขียว แว็บเดียวถึงป่าที่อาศัย
- การเล่นเสียงวรรณยุกต์ คือ การไล่ระดับเสียงวรรณยุกต์ขึ้นหรือลง โดยต้องเป็นวรรณยุกต์ที่อยู่ติดกันอย่าง เอก-โท-ตรี หรือ โท-เอก-สามัญ เช่น
จิบจับเจาเจ่าเจ้า รังมา
จอกจาบจั่นจรรจา จ่าจ้า
เค้าค้อยค่อยคอยหา เห็นโทษ...
๒.๒ การเล่นคำ
- การเล่นคำพ้องเสียง คือ การใช้คำที่มีเสียงเหมือนกัน แต่มีรูปคำและความหมายต่างกัน เช่น
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
- การเล่นคำพ้องทั้งเสียงและรูป คือ การใช้คำที่มีเสียงและรูปเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน เช่น
เห็นโศกใหญ่ใกล้น้ำระกำแฝง
ทั้งรักแซงแซมสวาทประหลาดเหลือ
เหมือนโศกพี่ที่ช้ำระกำเจือ
เพราะรักเรื้อแรมสวาทมาคลาดคลาย
- การเล่นคำซ้ำ หรือ ซ้ำคำ คือ การใช้คำเดียวกันหลายแห่ง เช่น
เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว
๒.๓ การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ หรือ ปฏิปุจฉา
คือ การใช้คำที่มีนัยถามให้คิด แต่ไม่ได้ต้องการคำตอบจากคำถามนั้น กวีใช้ในการประพันธ์เพื่อต้องการเสียดสีหรือเน้นย้ำบางสิ่งบางอย่าง เช่น
กระนี้หรือชื่อเสียงเกียรติยศ
จะมิหมดล่วงหน้าทันตาเห็น
เป็นผู้ดีมีมากแล้วยากเย็น
คิดก็เป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น
๒.๔ การใช้ภาพพจน์
ประเภท | ลักษณะ | ตัวอย่าง |
อุปมา | เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่า เหมือนอีกสิ่งหนึ่ง โดย ใช้คำว่า “เหมือน” หรือ คำที่มีความหมายใน ทำนองนี้แสดงการเปรียบ | ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา |
อุปลักษณ์ | เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่า เป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักมี คำว่า “เป็น” หรือ “คือ” แสดงการเปรียบ | - ทหารเป็นรั้วของชาติ - พิศอ่อนคือศศิธร แจ่มฟ้า |
นามนัย | ใช้ส่วนย่อยหรือจุดเด่นแทน ความหมายของ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง | ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร (ฉัตร = ราชบัลลังก์) |
บุคคลวัต | การทำให้สิ่งที่ไม่ใช่ คนมีกิริยาอาการเหมือนคน | เสด็จทรงรถแก้วโกสีย์ ไพโรจน์รูจี จะแข่งซึ่งแสงสุริย์ใส (“แข่ง” เป็นอาการ ของคน) |
อติพจน์ | กล่าวเกินจริง | ตราบขุนคิริข้น ขาดสลาย แลแม่ รักบ่หายตราบหาย หกฟ้า… |
สัทพจน์ | ใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ | ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น (“ฉาดฉะ” เป็นเสียง ของแข็งกระทบกัน) |
สัญลักษณ์ | การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง | "ดอกมะลิ"แทน วันแม่ "ดอกกุหลาบ" แทน ความรัก "กา" แทน คนต่ำศักดิ์ "หงส์" แทน คนสูงศักดิ์ |
ปฏิพากย์ | การนำคำที่มีความหมายตรงข้ามกัน มาเขียนไว้ด้วยกัน | จากความมืดสู่สว่างกระจ่างแจ้ง จากร้อนกลายเป็นเย็น |