สาระสำคัญและผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

MEDIUM

สาระสำคัญและผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

HARD

สาระสำคัญและผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

news

สาระสำคัญและผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เนื้อหา

สาระสำคัญและผลการพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

      แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็น
กรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช. หรือ สภาพัฒน์) เป็นแผนระยะ 5 ปี (ถือเป็นแผนระยะปานกลาง) โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2504 จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทย
อยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 12 
(พ.ศ. 2560 - 2564) โดยแผนพัฒนาฯ แต่ละฉบับ มีจุดมุ่งเน้นการพัฒนาแตกต่างกันไปตามบริบทและสภาวะเศรษฐกิจในยุคนั้น

สรุปประเด็นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 - 2 (พ.ศ. 2504 - 2513)
    เน้นไปที่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย
    การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 - 4 (พ.ศ. 2514 - 2523)
    เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 - 7 (พ.ศ. 2524 - 2539) 
    มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง
    การพัฒนาชนบทและภูมิภาค
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 - 11 (พ.ศ. 2540 - 2559)
    เน้นยึดคนเป็นศูนย์กลางและกระบวนการมีส่วนร่วมใน
    การพัฒนา รวมทั้งยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงและมุ่งเน้นการพัฒนาให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) 
    เน้นการปรับโครงสร้างของประเทศไทยไปสู่ 4.0 และประเด็นการปฏิรูปประเทศต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยังคงยึดหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" "การพัฒนาที่ยั่งยืน" และ
    "คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา" 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 2509) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เป็นการวางแผนเพื่อมุ่งพัฒนาให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทาน สาธารณูปโภคต่างๆ โดยมีเป้าหมาย
เพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนให้ดีขึ้น มุ่งเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี มีการดำเนินโครงการที่สำคัญคือ การก่อสร้างเขื่อนภูมิพล โครงการเขื่อนเจ้าพระยา 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 - 2514) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ยังมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เริ่มให้
ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท การกระจายความเจริญ
ไปสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งแนวคิดการวางแผนพัฒนารายสาขา ส่งเสริมเอกชนให้มีบทบาทในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และภาคบริการมากขึ้น


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ยังคงมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญในการพัฒนาสังคมคู่ไปด้วย เน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้
ให้กับประชาชนในชนบท ลดความแตกต่างของรายได้ระหว่างในเมืองกับชนบท รวมทั้งกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาชนบท

      ในช่วงนี้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันแพง เศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อรุนแรง เฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งเกิดการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้และความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการของรัฐบาลเป็นอย่างมาก 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 มุ่งเน้นการฟื้นฟูเสถียรภาพ
ทางเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง โดยปรับปรุงโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและขยายการผลิตภาคเกษตรเพื่อการส่งออก รวมทั้งลดอัตรา
การเพิ่มของประชากรและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยการเสริมสร้างสวัสดิภาพทางสังคมให้กับประชาชน


 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่าการมุ่งขยายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการวางแผนได้กำหนดพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาความยากจนรวมทั้งกำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนา
ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
นอกจากนี้ ยังเน้นให้ภาคเอกชนมีบทบาทและมีส่วนร่วม
ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย

      ผลของแผนนี้ทำให้ปัญหาความยากจนในชนบทลดลง รวมทั้งสามารถกระจายบริการทางสังคม ทั้งในด้าน
การศึกษาและสาธารณสุขได้กว้างขวางมากขึ้น 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 - 2534) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ให้ความสำคัญในการ
เพิ่มผลิตภาพการพัฒนาประเทศในด้านทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และการบริหารจัดการ เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการคลัง รวมทั้งยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการใช้ทรัพยากร

      ในยุคนี้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อทำงานในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสังคมเมือง รวมทั้งเกิดปัญหา
ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างกลุ่มครัวเรือนและสังคมชนบทกับสังคมเมืองมากขึ้น


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ได้เริ่มนำแนวคิด
การพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนา โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ เน้นการกระจายรายได้ กระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาคและชนบท รวมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต ปรับปรุงและบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจากผลการพัฒนาที่ผ่านมา
ภายในแผนนี้ยังเน้นการพัฒนากฎหมาย การพัฒนารัฐวิสาหกิจ และระบบราชการ 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 มุ่งเน้นการพัฒนาโดยให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยได้เปลี่ยนจากการวางแผนจากภาครัฐ มาเป็นการวางแผนโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ทั้งนี้ แผนฉบับนี้อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชาติ จึงมีการปรับแผนพัฒนา
ฉบับที่ 8 ให้สอดคล้องกับปัจจัยสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขที่สำคัญของการกู้ยืมเงินจาก IMF 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้นำ “ปรัชญาเศรษฐกิจ
แบบพอเพียง”
มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
และยังคงยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา รวมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลทั้งตัวคน เศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพควบคู่ไปกับ
การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ยังคงยึดแนวทางตามแผน
ฉบับที่ 8 และ 9 คือ การยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและใช้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนา
เพื่อสร้างความสมดุล และพัฒนาประเทศสู่สังคม
อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มุ่งเน้นพัฒนาคนให้มีคุณธรรม
นำความรู้ และเท่าทัน รวมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เสถียรภาพ และเป็นธรรม ตลอดจนพัฒนาและบริหารจัดการประเทศให้เกิดธรรมาภิบาล สร้างความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อม
สร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ โดยการสร้างความสมดุล
ของภาคเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ยังคงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ แผนฉบับนี้มีวิสัยทัศน์ว่า

“สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง”

      มี 3 พันธกิจ ได้แก่ การพัฒนาฐานการผลิตและบริการ การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤติการณ์

      แผนฉบับที่ 11 เน้นที่การตั้งรับ โดยเน้นการป้องกันปัญหาจากวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเป็นยุคที่เพิ่งผ่านวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกและวิกฤตการณ์ทาง
การเมืองภายในประเทศไทย


แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) 

      แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้จัดทำบนกรอบพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ซึ่งเป็นแผนหลักของการพัฒนาประเทศและเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืน (
Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นกรอบระดับโลก รวมทั้งการปรับโครงสร้างของประเทศไทยไปสู่ 4.0 และประเด็นการปฏิรูปประเทศต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
โดยยังคงยึดหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"
"การพัฒนาที่ยั่งยืน" และ "คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา"
ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฉบับที่ 9 - 11 และเน้น
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำ
และขับเคลื่อนการเจริญเติบโตจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนฐานการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม

ทีมผู้จัดทำ