อารยธรรมของโลกยุคโบราณ
พัฒนาการของมนุษยชาติในสมัยกลางสู่ยุคแห่งการปฏิวัติ การปฏิรูป และยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา
พัฒนาการของโลกในสมัยจักรวรรดินิยมถึงปัจจุบัน

พัฒนาการของมนุษยชาติสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ยอดวิว 157.4k

แบบฝึกหัด

EASY

พัฒนาการของมนุษยชาติสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ชุดที่ 1)

HARD

พัฒนาการของมนุษยชาติสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 

      การแบ่งยุคสมัยย่อยของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สามารถแบ่งโดยอาศัยหลักฐาน เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ หรือรูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้ 

1.  การแบ่งยุคสมัยตามชนิดของวัสดุที่นำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้
     มนุษย์ในอดีตได้พัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการดำรงชีวิต โดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีการที่แตกต่างกัน วัสดุสำคัญที่ใช้กำหนดช่วงเวลาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ "หินและโลหะ" จึงเรียกช่วงเวลาย่อยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ว่า “ยุคหิน” และ “ยุคโลหะ”

2.  การแบ่งยุคสมัยตามวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์
     
สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังไม่มีการสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่จะเลือกอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือชะง่อนผา และดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า จากนั้นจึงได้พัฒนาไปสู่การตั้งถิ่นฐานในลักษณะของหมู่บ้านเกษตรกรรม และได้พัฒนาเป็นสังคมเมืองในเวลาต่อมา ดังนั้น นักโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จึงได้แบ่งช่วงเวลาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตามวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ออกได้ 3 ระยะ คือ สังคมหาของป่าและล่าสัตว์, สังคมเกษตรกรรม, และ สังคมเมือง


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งออกได้ 2 ยุค

ยุคหิน (Stone Age) แบ่งย่อยเป็น 3 สมัยย่อย คือ สมัยหินเก่า / สมัยหินกลาง / สมัยหินใหม่
ยุคโลหะ (Metal Age) แบ่งย่อยเป็น 2 สมัยย่อย คือ สมัยสำริด / สมัยเหล็ก

ยุคหิน (Stone Age) 

       เป็นช่วงระยะแรกที่มนุษย์ได้รู้จักนำหินมากะเทาะกันให้เกิดความคม สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการดำรงชีวิตและอาจใช้เป็นอาวุธด้วย สำหรับยุคหิน สามารถแบ่งเป็นสมัยย่อยออกได้เป็น 3 สมัยย่อย ดังนี้ 

1.  สมัยหินเก่า (Paleolithic Period หรือ Old Stone Age)
      เริ่มตั้งแต่การที่มนุษย์รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้ โดยเอาหินนำมากะเทาะให้มีแง่มีคมอย่างหยาบสำหรับสับ ตัด ขุด หรือใช้ประโยชน์อื่นตามต้องการ เครื่องมือหินนี้เรียกว่า "เครื่องมือหินกะเทาะ" ซึ่งทำขึ้นอย่างหยาบ ๆ เพียงเพื่อให้ใช้งานได้เท่านั้น
      ต่อมามนุษย์ได้รู้จักการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เพิ่มเติมจากกระดูกสัตว์ที่ล่าได้ อีกทั้งมนุษย์ยังได้เข้าไปอยู่อาศัยตามถ้ำหรือเพิงผา และได้วาดภาพไว้ตามผนังถ้ำอีกด้วย 
มนุษย์ในช่วงเวลานี้ได้เร่ร่อนไปตามฝูงสัตว์และแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ 
      ในระยะแรกมนุษย์ยังคงกินสัตว์ที่ล่ามาได้แบบดิบ ๆ อยู่ แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้จักใช้ไฟ ก็มีการทำอาหารให้สุก เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานมากขึ้น และนอกจากนี้ไฟยังให้แสงสว่าง ความอบอุ่น และป้องกันสัตว์ร้ายอีกด้วย นอกจากนี้ ในด้านสังคมเมื่อมีคนตายลง มนุษย์บางกลุ่มจะทำพิธีฝังศพและใส่สิ่งของ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ ลงในหลุมศพด้วย
      มนุษย์สมัยหินเก่าพบกระจายตัวอยู่หลายแห่งทั่วโลก ตัวอย่างหลักฐานที่ถูกพบ ได้แก่ เครื่องมือที่ทำด้วยหินและกระดูกสัตว์ เครื่องประดับ โครงกระดูกมนุษย์ และกระดูกสัตว์
      ตัวอย่างมนุษย์ในสมัยหินเก่า เช่น มนุษย์โฮโมฮาบีลิส (Homohabilis) พบในทวีปแอฟริกา มนุษย์โฮโมอิเร็กตัส (Homo erectus) พบในแถบทวีปแอฟริกา ยุโรปและเอเชีย

วัฒนธรรมหินเก่าที่สำคัญ เช่น
      Oldowan Culture มีการขุดพบเครื่องมือที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำกะเทาะอย่างหยาบ ๆ ในทวีปแอฟริกา
      Anyathian Culture มีการขุดพบเครื่องมือที่ทำจากไม้กลายเป็นหินที่ประเทศพม่า
      Fingnoian Culture มีการขุดพบเครื่องมือที่หินกะเทาะที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำที่จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดเชียงราย, และจังหวัดลำปาง
      Pajitanian Culture พบเครื่องมือที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำและโครงกระดูกบางส่วนของ Pithecanthropus Homo Erectus หรือมนุษย์ชวาที่ประเทศอินโดนีเซีย

2.  สมัยหินกลาง (Mesolithic Period หรือ Middle Stone Age)
     
มนุษย์เริ่มมีการพัฒนาความเจริญมากขึ้น รู้จักเลี้ยงและฝึกหัดสัตว์บางชนิดไว้ใช้งาน เช่น สุนัข เป็นต้น อาวุธหินขัดมีขนาดเล็กลงและประณีตมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาวุธประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ธนู ฉมวก และเบ็ดตกปลาซึ่งทำจากกระดูกสัตว์ รวมทั้งยังรู้จักขุดเรือเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจับปลาในเขตน้ำลึก และเพื่อเอาไว้ใช้ข้ามลำน้ำ
     ช่วงระยะเวลาของสมัยหินกลางมีระยะเวลาสั้น ในทวีปยุโรปและแอฟริกาพบหลักฐานเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนมากพบในแถบทวีปเอเชีย แต่ละแห่งเริ่มมีลักษณะเฉพาะกลุ่มที่พัฒนาต่อมาจากสมัยหินเก่า

วัฒนธรรมสมัยหินกลางที่สำคัญ ได้แก่
      Magle Moisian Culture เป็นวัฒนธรรมที่พบในแถบสแกนดิเนเวีย และในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในประเทศเดนมาร์ก ได้พบร่องรอยของหลุมเสาบ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่ปลูกอย่างง่าย ๆ โดยใช้ฟางหรือหญ้าแห้งมุงหลังคา เริ่มรู้จักการเพาะปลูก สำหรับพืชที่ปลูกในระยะแรกได้แก่ ข้าวสาลี
      นอกจากนั้นยังได้พบซุงที่นำมาขุดทำเป็นเรือ พบฉมวกและเบ็ดตกปลาทำด้วยกระดูก รวมทั้งพบกระดูกสัตว์น้ำขนาดใหญ่ การพบหลักฐานข้อมูลเช่นนี้แสดงว่าคนในสมัยดังกล่าวมีความสามารถในการจับสัตว์น้ำได้ดี และรู้จักการคมนาคมทางน้ำแล้ว ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหิน ได้แก่ หัวลูกศร ใบหอก และที่สำคัญคือ เครื่องมือหินขนาดจิ๋ว ทำจากสะเก็ดหินขนาดเล็กที่มีรูปทรงเลขาคณิต โดยนำมาวางเรียงในไม้ที่เซาะเป็นร่อง แล้วเอายางไม้หยอดให้ยึดเครื่องมือหินติดกับไม้ใช้เป็นมีดหรือเคียว
      Toalian Culture พบเครื่องมือหินที่เกาะเซเลเบสและเกาะติมอร์ เครื่องมือทำเป็นใบมีด หัวลูกศร รวมทั้งพบก้างปลา เปลือกหอย และอื่น ๆ ทั้งในถ้ำและในที่กลางแจ้ง นอกจากนั้นยังพบโครงกระดูกมนุษย์อีกด้วย
      Hoabinhian Culture พบครั้งแรกที่เมืองหัวบินห์ ประเทศเวียดนาม เครื่องมือหินแบบวัฒนธรรมนี้พบในดินแดนต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันเป็นประเทศจีน, ไทย, พม่า, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, และฟิลิปปินส์ คนในวัฒนธรรมนี้บางกลุ่มเริ่มรู้จักเกษตรกรรมแล้ว บางกลุ่มรู้จักการทำภาชนะดินเผาใช้ มีการฝังศพ
      สำหรับเครื่องมือหินยังเป็นเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวและกะเทาะสองหน้า แต่มีขนาดเล็กลงกว่าสมัยหินเก่า การกะเทาะทำได้ดีขึ้น ซากพืชและกระดูกสัตว์ที่ขุดพบมีลักษณะคล้ายกับพืชและสัตว์ในปัจจุบัน คนสมัยหินกลางวัฒนธรรมมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งอาศัยบนภูเขาตามถ้ำหรือเพิงผา  ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ หรือชายทะเล

3.  สมัยหินใหม่ (Neolithic Period หรือ New Stone Age) 
     
มนุษย์ในยุคนี้เริ่มมีการอาศัยรวมกันเป็นชุมชนระดับหมู่บ้าน ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์จากสังคมล่าสัตว์มาเป็นสังคมเกษตรกรรม มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง มีการสร้างที่พักถาวรบริเวณลุ่มน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้มีมีการประดิษฐ์อย่างประณีตมากขึ้น โดยการขัดแต่งให้มีคมและสามารถจับได้อย่างถนัดมือมากขึ้น ลักษณะสำคัญของยุคนี้คือ การเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม และการจัดระเบียบการปกครอง
      สมัยหินใหม่ นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี การพัฒนาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการพัฒนาเครื่องมือหินที่เรียกว่า "ขวานหินขัด" ซึ่งทำให้เครื่องมือหินมีรูปร่างและประโยชน์ใช้สอยดีขึ้น รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทำให้นักโบราณคดีบางคนเรียกยุคนี้ว่า "ยุคเกษตรกรรม" นอกจากนี้ยังพบการทำเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายรูปแบบ
     
วัฒนธรรมสมัยหินใหม่ที่สำคัญ ได้แก่     
       Lung-shan Culture เป็นชื่อวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ของประเทศจีน ลักษณะที่สำคัญของวัฒนธรรมนี้คือ ภาชนะดินเผาผิวเรียบขัดมันสีดำ ซึ่งบางแห่งเรียกว่า วัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาสีดำ นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าวัฒนธรรมนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในไทย เนื่องจากได้ขุดพบภาชนะดินเผาผิวเรียบขัดมันสีดำที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และที่ประเทศมาเลเซีย


ยุคโลหะ (Metal Age)

      ยุคโลหะแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 สมัย ได้แก่ สมัยสำริด และสมัยเหล็ก การแบ่งย่อยเป็นสมัยต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ได้รู้จักนำโลหะมาใช้ผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ และอาวุธ เริ่มต้นจากการรู้จักนำทองแดงมาใช้ประโยชน์ก่อน 
      ต่อมาเมื่อรู้จักดีบุก จึงได้นำดีบุกมาหลอมรวมกับทองแดงจนได้เป็นเป็นโลหะผสมเรียกว่าสำริดขึ้นมา หลังจากนั้น ได้มีการค้นพบแร่เหล็กที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทานมากกว่าสำริด ซึ่งการนำมาใช้นั้นต้องผ่านกรรมวิธีการถลุงที่ซับซ้อนมากกว่า

      การเข้าสู่ยุคโลหะนี้ ในทวีปยุโรปและบริเวณตะวันออกกลางบางแห่งมีลักษณะที่ค่อนข้างเด่นชัดในเรื่องการพัฒนาจากสมัยทองแดง สำริดและเหล็กตามลำดับ ส่วนทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยทองแดง ไม่ปรากฏเด่นชัดแต่จะพบหลักฐานการใช้สำริดและเหล็กในเวลาพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน

1.  สมัยสำริด (Bronze Age) 
     
เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักการถลุงโลหะ โดยนำโลหะสองชนิด ได้แก่ ทองแดง และดีบุกมาหลอมและถลุงเพื่อใช้ประโยชน์ สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในยุคสำริดที่ถูกค้นพบตามแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากทำด้วยสำริดแล้ว ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำจากดินเผา หิน และแร่ชนิดอื่น ๆ ในบางแห่งพบว่ามีการใช้สำริดต่อเนื่องมาจนถึงยุคเหล็ก ส่วนตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด เช่น ขวาน หอก ภาชนะ และเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู ลูกปัด เป็นต้น

2.  สมัยเหล็ก (Metal Age)
     
ช่วงเวลานี้สืบเนื่องจากการที่มนุษย์สามารถถลุงและหลอมโลหะที่สำคัญอย่างสำริด และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ในเวลาต่อมามนุษย์ได้รู้จักการนำเหล็กมาถลุงและหลอมเพื่อการใช้ประโยชน์ได้
      สังคมที่สามารถพัฒนาการผลิตเหล็กจะสามารถพัฒนาสู่ความเป็นรัฐที่เข้มแข็งได้ เพราะเหล็กเป็นโลหะที่มีความแข็งแกร่งมากกว่าสำริดและโลหะชนิดอื่น ๆ ที่มีใช้ในเวลานั้น สังคมดังกล่าวสามารถผลิตอาวุธที่มีมีประสิทธิภาพ และช่วยกองทัพที่แข็งแกร่งได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้สร้างเครื่องมือทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อันช่วยในเรื่องของการเพาะปลูกอีกด้วย

วัฒนธรรมยุคโลหะที่สำคัญ ได้แก่
            Dongson Culture เป็นชื่อวัฒนธรรมยุคโลหะ พบครั้งแรกในประเทศเวียดนาม โดยเชื่อกันว่าวัฒนธรรมนี้ได้แพร่ขยายมาในดินแดนที่เป็นประเทศลาว, กัมพูชา, ไทย, พม่า, มาเลเซียและอินโดนีเซีย สิ่งของเครื่องใช้สำคัญที่สร้างจากสำริด ได้แก่ กลองมโหระทึก, หอกสำริด, ขวาน ทำด้วยเหล็ก, แหวนสำริด, เป็นต้น
            Ban Chieng Culture เป็นชื่อวัฒนธรรมยุคโลหะพบที่ตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นแหล่งที่พบภาชนะดินเผาลายเขียนสีมาก นอกจากนั้นยังได้พบเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด เหล็ก และลูกปัดทำด้วยแก้ว